top of page

A monastic life, Stepping into Freedom ชีวิตนักบวช ก้าวย่างสู่อิสรภาพ

Dear friends, This is an interview of Sister Ling nghiem in Thai language. It publish on September 2003.
สัมภาษณ์หลวงพี่มิรามิสา
จาก คอลัมน์สัมภาษณ์ นิตยสารสารคดี ฉบับ 223 เดือนกันยายน 2546
นิรมล มูนจินดา, วาสนา ชินวรากร : สัมภาษณ์




1 ฤดูร้อน พ.ศ. 2544 ที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส
เด็กคนหนึ่งถามหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ว่า "ทำไมท่านถึงโกนผม ?" ท่านตอบว่า "มีเด็กหลายคนที่ถามว่า ทำไมพวกเราจึงโกนผม คำตอบที่ฉันมักจะตอบเด็กๆ ไปคือ พวกเราต้องการประหยัดแชมพู แต่ยังมีคำตอบอย่างอื่นอีกด้วย พระพุทธเจ้าเคยตรัสแก่ ภิกษุภิกษุณีว่า ทุกเช้าเมื่อ เธอตื่นขึ้นมา เธอจะต้องแตะศีรษะของตนเองแล้วระลึกว่า เธอเป็นภิกษุ และภิกษุณี มิใช่คนที่ใช้ชีวิตในโลกียะ โปรดระลึกไว้ว่าเธอเป็นภิกษุภิกษุณีแล้ว เธอจะ ได้รู้ว่าเธอไม่ควรวิ่งไล่ตามชื่อเสียงเงินทอง แต่ควรพยายามบ่มเพาะความเมตตากรุณา และความเข้าใจในทุกๆ วัน"
"เหตุผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่เราปฏิบัติ เพื่อแสดง ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะไม่กระทำอย่างที่เคยกระทำมาก่อน พวกเราปรารถนาจะเริ่มต้นใหม่ อย่างแท้จริง พวกเราปรารถนาจะใช้ชีวิตทางจิตวิญญาณ นี้คือการแสดงออกถึงความตั้งใจ แน่วแน่นั้น การโกนผมเป็นภาษาอย่างหนึ่งที่บอกว่า ฉันปรารถนาจะเดินในหนทาง ทางจิตวิญญาณตามอย่างพระพุทธเจ้า"
"นอกจากเหตุผลเหล่านั้น เรายังต้องการบอกกับคนทั่วไปด้วยว่า พวกเราคือภิกษุ ภิกษุณี และพวกเขาไม่ควรพยายามวิ่งไล่ตามเรา และพาเราไปเป็นสามีหรือภรรยา นี่เป็นข่าวสารทางอ้อมที่บอกว่า ฉันเป็นภิกษุแล้ว กรุณาอย่าพยายามล่อลวงฉันเลย ฉันเป็นภิกษุณีแล้ว กรุณาอย่าพยายามล่อลวงฉันเลย กรุณาให้ฉันอยู่ตามลำพัง เพื่อที่ฉัน จะได้เดินตามทางของพระพุทธเจ้า นี่เป็นสิ่งที่ชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งนัก"

2 หลวงพี่ณีนิรามิสา
หลวงพี่นิรามิสา มีชื่อเดิมว่า สมพร พันธจารุนิธิ เกิดและเติบโตในครอบครัวคนจีน ที่ทำกิจการโรงพิมพ์ จบชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย ที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และโรงเรียนมาแตร์เดอี จากนั้นเข้าเรียน คณะพยาบาลศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สมัครทำงานเป็นพยาบาลและผดุงครรภ์ ค่ายอพยพชาวอินโดจีน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ก่อนจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านการศึกษาเด็กเล็ก ณ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา
เคยทำงานในตำแหน่งผู้แทนผู้อำนวยการ (Co-representative) กับองค์การ American Friends Service Committe ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือผู้หญิง เด็ก ชนกลุ่มน้อย และคนชนบท ในท้องถิ่นทุรกันดาร สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเคยเป็น ที่ปรึกษาขององค์การ UNICEF ในโครงการการศึกษาเพื่อเด็กเล็กและครอบครัวใน หมู่บ้าน ที่ประเทศเดียวกันด้วย
ในวันเกิดปีที่ 36 ขณะเดินจงกรมที่วัดสกป่าหลวง เวียงจันทน์ ได้ตัดสินใจชัดเจนว่า จะมีชีวิตนักบวช

สองปีถัดมา บวชเป็นสามเณรีในประเพณีพุทธแบบมหายานกับหลวงปู่ติชนัทฮันห์ ณ หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส มีชื่อทางธรรม เป็นภาษาเวียดนามว่า เจงลึงเงียม (Chan Linh Nghiem) หรือ Adornment with Spirituality
พ.ศ. 2543 บวชเป็นภิกษุณีมีชื่อทางธรรมว่า นิรามิสา หรือ ผู้ไม่ติดในเหยื่อล่อของวัตถุทางโลก ปัจจุบันประจำอยู่ที่ หมู่บ้านพลัม และเดินทางร่วมกับหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ และสังฆะหมู่บ้านพลัม เผยแผ่การฝึกปฏิบัติธรรมในยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นบางครั้งบางหน
พ.ศ. 2545 และ 2546 เดินทางกลับมาเยี่ยมเยียนประเทศบ้านเกิดเมืองนอน และให้การอบรมการฝึกปฏิบัติเจริญสติตามแบบ หมู่บ้านพลัม

3 ที่หมู่บ้านพลัม ท่านเป็นภิกษุณีคนไทยคนเดียวหรือเปล่าคะ
เป็นคนไทยคนเดียวค่ะ แต่มีผู้ปฏิบัติธรรมคนไทยที่เรียน และที่มีครอบครัวอยู่ใน ฝรั่งเศสมาบ้าง

ชีวิตประจำวันที่หมู่บ้านพลัมทำอะไรบ้าง
ตารางเวลาปรกติประจำวันจะตื่นตีห้า แล้วฟาสต์วอร์กกิ้งตอน 05.30น. เป็นการเดินเร็ว ด้วยความเบิกบาน เหมือนการออกกำลังกายกลายๆ บางรูปก็จะวิ่งสมาธิสัก 15 นาที 06.00 น. สวดมนต์ตอนเช้า เป็นภาษาเวียดนาม 07.45 น. รับประทานอาหารเช้า 09.00 น. ทุกคนในชุมชนจะมารวมกัน ร้องเพลง และประกาศเรื่องแจ้งให้ทราบ ในชุมชน เสร็จแล้วจะแยกไปทำงานเจริญสติ ประมาณ 11.45 น. เดินด้วยความเบิกบาน 12.45 น. รับประทานอาหารกลางวันและพัก ส่วนตอนบ่ายก็จะแล้วแต่ บางวันเป็น การสนทนาธรรม บางวันเป็นการเรียนเกี่ยวกับเรื่องศีล บางวันก็เรียนภาษา บางวันก็จะพัก สัก 16.00 น. หรือ 17.00 น. ก็นั่งสมาธิและสวดมนต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือ ฝรั่งเศส แล้วแต่กลุ่มผู้เข้าร่วม และรับประทานอาหารเย็น ตอนค่ำเป็นเวลาว่าง หรือ ฝึกปฏิบัติส่วนตัว อันนี้คือพื้นฐานโดยรวม จะแตกต่างกันไป ในแต่ละฤดูกาล

 

ระบบความสัมพันธ์ในสังฆะหมู่บ้านพลัมเป็นแบบไหนคะ
ที่หมู่บ้านพลัมมีการนำประชาธิปไตยกับระบบอาวุโสมาใช้ด้วยกัน คือมีคณะกรรมการที่ชุมชนนักบวชเลือกขึ้นมาในแต่ละวัด เรียกว่า Caretaking Council หรือ คณะกรรมการผู้ดูแล นิรามิสาอยู่ที่วัดใหม่ (วัด New Hamlet) และอยู่ในคณะกรรมการนี้ เป็นผู้ดูแลงานบริหารทั้งหมด โดยเป็นคนรวบรวมและรับฟังเสียงของชุมชนสังฆะ โดยเฉพาะเสียงของนักบวชใหม่ ที่ประชุมนี้ มีลักษณะของ consensus หรือประชามติ เป็นกระบวนการที่ชอบมาก เพราะเปิดโอกาสให้รุ่นน้องได้แสดงความคิดเห็น และได้ เข้ามาทำงานด้วย พอฟังเสียงของชุมชนสังฆะแล้ว ก็เข้าปรึกษากับเจ้าอาวาสและบรรดาท่านอาจารย์
อย่างคนที่มาบวช พอผ่านไปได้ช่วงระยะหนึ่งก็จะต้องเข้าพิธี รับตะเกียงเป็นธรรมาจารย์ หมายถึง สามารถเป็นผู้สอนได้ แต่ในความหมายจริงๆ ถึงแม้บวชมาหนึ่งวัน ถ้าเราเปลี่ยนแปรสภาพได้เราก็เป็นอาจารย์ได้เหมือนกัน คือเป็นอาจารย์ในวิถีการปฏิบัติ การมอบตะเกียงธรรมาจารย์นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เอาเข้าที่ประชุม เพื่อปรึกษากันว่าเห็นด้วยไหม
ในขณะเดียวกันเราก็ยังมีความเคารพในรุ่นพี่ เช่น ผู้อาวุโสในแง่การฝึกปฏิบัติมาก่อน เพราะว่าทุกคนที่บวช ปฏิญาณตัวที่จะฝึก ปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปรสภาพ คนที่เคยเป็นคนเสียงดังหรือมักจะใจร้อน ก็กลายเป็นคนใจเย็น เป็นความจริงที่เห็นได้ในหมู่บ้านของเรา ถึงแม้ว่าเขาจะอายุแค่ 30 เราอายุ 41 แต่เขาบวชมาก่อนเรา ก็ถือว่าเป็นพี่เรา เราก็เคารพ
เพราะฉะนั้นในสังคมหมู่บ้านพลัมก็จะมีความ เคารพรักกัน สอนกันในเรื่องความเป็นพี่เป็นน้อง ในระบบอาวุโสทางธรรม มีความ ไว้วางใจกันสูงมาก และถ้าประชุมแล้ว ถ้าบางเรื่องไม่ผ่านประชามติ เราก็จะอิงผู้อาวุโส หลวงพี่ใหญ่ หรือเจ้าอาวาส เราปฏิบัติธรรม ในการไว้ใจภูมิปัญญาของท่าน ที่มีประสบการณ์มากกว่า ซึ่งอาจจะต่างในสังคมที่นับอาวุโสกันที่อายุ
สิ่งหนึ่งที่นิรามิสาเคารพคือ คนที่บวชก่อนนั้น เขาได้ฝึกปฏิบัติตลอด และ มีการเปลี่ยนแปรอยู่ตลอด เพียงแต่บางคนอาจจะช้า บางคนอาจจะเร็ว ถ้าเป็น คนวัยหนุ่มวัยสาว ยังไม่ถูกใส่จากสังคมมามาก จะเปลี่ยนแปรเร็ว และจะมี ความสุข เบิกบานเร็ว เป็นเรื่องจริงค่ะ ถ้าอายุมากหน่อยมาบวช ก็ต้องมีความ ขยันหมั่นเพียรมาก เพราะเก็บตกมาจากสังคมมาก ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสอน การกระทำต่างๆ ความคิดเห็นที่มีมาก่อน ความจำได้หมายรู้มีมาเยอะแยะ พอมาบวช ก็ต้องมาแกะออก
นิรามิสาเองก็เรียนจบปริญญาโท พอไปอยู่ที่นั่นก็ต้อง deknowledge หรือ สลายความรู้ออกแล้วปล่อยวาง เหมือนกับเราเกิดใหม่จริงๆ แต่เราก็ยังมีความรู้ ความเชี่ยวชาญอยู่ในตัวเรา ถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์คือ การยึดว่าเรารู้เรื่องนี้อยู่ ทำให้เราไม่มีแรงจะเปิดประตูด้านอื่น พอบวชแล้วรู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้หลุดออกไปหมด คือเราไม่ได้เป็นอะไร เป็นใครมาก่อน แล้วเราก็รับ สิ่งที่เป็นความงามแท้จริงเข้ามาแทน ด้วยวิถีแห่งการปฏิบัติ อยู่ในเนื้อในหนัง ของเราเอง อยู่ในวิถีปฏิบัติของการดำเนินชีวิตจริงๆ เป็นการเดิน การนั่ง การนอน สิ่งที่คิดขึ้นมาเป็นตัวเรา


ตอนเด็ก ๆ ท่านเป็นอย่างไรคะ
ตอนเด็ก ๆ จะเรียบร้อยมาก จนได้รางวัลความประพฤติดีตอนเรียนอยู่ ป. 2 กับ ป. 4 จำได้ว่าตอน ป. 2 เราไม่พูดเลยตลอดทั้งปี เป็นเด็กเงียบ พอ ป. 6 กลับกลายมาเป็น เด็กแก่น เป็นเด็กกวนคุณครู เป็นหัวโจก พอไปเรียนเรื่องการศึกษาเด็กเล็กที่อเมริกา เลยได้เข้าใจว่า เป็นธรรมชาติของวัยที่เปลี่ยนไป เราต้องการหาสัญลักษณ์ของตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระ เป็นเอกราช เราอยากหาอะไรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเรา นึกถึงกลับไปแล้ว สงสารคุณครูจังเลย (หัวเราะ) พอเริ่มโตขึ้นไป ม.ศ. ปลาย ก็จะเริ่ม ลงตัวขึ้นมาได้


รู้จักหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ได้อย่างไรคะ
ตอนอายุ 16 เรียนอยู่ ม.ศ. 3 กำลังจะต่อมัธยมปลาย โยมพี่สาวคนโต (นงลักษณ์ พันธจารุนิธิ) สอบเข้าคณะทันตแพทยศาสตร์ มหิดลไปก่อนแล้ว และอยู่ชมรม พุทธศาสตร์ ได้ให้หนังสือชื่อ "ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ" ของ หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ มีคุณประชา (หุตานุวัตร) สมัยที่ยังเป็นพระประชา ปสนฺนธมฺโม เป็นผู้แปล อ่านครั้งแรก รู้สึกประทับใจมาก เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เอาไปใช้ได้ เป็นหนังสือที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ดูเหมือนกับว่าเป็นพระเขียน แต่ชื่อ ติช นัท ฮันห์ นี้บ้านเราไม่คุ้นเลย ตอนนั้นก็ไม่ได้ สนใจหรอกว่าใครเป็นผู้เขียน แต่สนใจว่าเป็นหนังสือที่ดี ก็ลองเอามาใช้ ยิ้มให้ตัวเอง ทุกวันในกระจก ล้างจานเพื่อล้างจาน เราสะดุดใจมากตอนนั้น พอมาอยู่ที่หมู่บ้านพลัม ยังบอกพี่สาวว่า ขอบคุณพี่สาวที่เอาหนังสือให้ เหมือนกับเป็นผู้เปิดประตูธรรม สัมผัสกับ ท่านครั้งแรก ขอบคุณที่พระประชาแปล ได้อ่านตั้งแต่อายุยังน้อยๆ
ช่วงนั้นพี่สาวก็ชวนไปเข้าชมรมพุทธฯ และได้ไปสวนโมกข์หลังจากจบ ม.ศ. 3 ตอนนั้นรู้สึกว่าพุทธศาสนา ไม่ใช่เรื่องของคนเฒ่าคนแก่ ไม่ได้เป็นของงมงายเลย แต่เป็นวิทยาศาสตร์ เอาไปใช้ได้ มีเสียงที่แรงอยู่ในใจว่า ชีวิตของคนเราต้องมีพื้นฐาน ทางด้านจิตวิญญาณ ใครก็ตามที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านจิตวิญญาณ มีชีวิตไม่รอดหรอก แต่พอมาพิจารณาดูตอนหลัง ความไม่รอดก็คือ อาจจะมีชีวิตอยู่ แต่ก็อยู่เหมือนคน ตายแล้ว คือไม่มีชีวิตทางด้านจิตใจ อยู่แต่ทางกายเฉยๆ แต่ไม่ alive ไม่เบิกบาน เป็นเสียงที่มันก้องมากอยู่ในใจว่า เราก็มีพื้นฐานทางด้านจิตวิญญาณ เราจะเอา พุทธศาสนานี่แหละเป็นที่พึ่ง เพราะเราเป็นคนพุทธมาเกิดเมืองพุทธ แล้วอีกเสียงหนึ่ง ที่ก้องก็คือ เป็นผู้หญิงก็ฝึกปฏิบัติธรรมได้ ทำอะไรได้เยอะแยะ


ทำไมเด็กสาวอายุ 16 ไม่อยากจะเที่ยวเล่น ไปดูหนัง ไปสยามสแควร์ หรือมีชีวิต อยู่กับเพื่อนๆ มากกว่าล่ะคะ
(หัวเราะ) มีช่วงที่ไปสยามสแควร์นะคะ คุณพ่อคุณแม่ท่านให้สตางค์ค่าขนมทุกสอง อาทิตย์ พอได้ค่าขนมปุ๊บก็เอาเงินไปซื้อผ้าสำหรับตัดเสื้อผ้าสวยๆ ใส่ เวลาที่เหลือใน สองอาทิตย์ก็ขนข้าวจากที่บ้านไปกินที่โรงเรียน เพราะไม่มีเงินซื้อข้าวกิน (หัวเราะ) เป็นช่วงหนึ่งประสาวัยรุ่นค่ะ
ตอน ม.ศ. 3 เห็นเพื่อนๆ แอบอ่านหนังสือนิยายใต้โต๊ะในเวลาเรียนกัน อ่านเป็นเล่มๆ เลย เช่น คู่กรรม เราก็พยายามอ่านพวกพ็อกเก็ตบุ๊กบ้าง แต่ทำไมเราไม่ติด อ่านได้ไม่เยอะ แต่เมื่อไรที่มาอ่านหนังสือทางด้านจิตวิญญาณ หรือเรื่องปรัชญาเรื่องธรรมะ เรากลับอ่าน ได้นาน เพลงวัยรุ่นก็ฟังทั้งเพลงไทย เพลงภาษาอังกฤษ แต่พอฟังเพลงเพื่อชีวิตแล้วก็ฟัง ได้นาน เกิดความรู้สึกประทับใจ
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขที่พี่สาวดึง เข้าไปหาชมรมพุทธฯ การมีโอกาสเข้าไปสัมผัส และทำกิจกรรมที่มหิดลตั้งแต่อยู่มัธยมปลาย ทำให้เราได้รับน้ำหล่อเลี้ยงตรงนี้ แทนที่จะ ได้แต่ทางเดียวคือการเสพเพลงทั่วไป หรือไปเดินชอปปิงตามสยามสแควร์ เราก็รู้สึกว่า มันมีทางอื่นด้วย เป็นเงื่อนไข เป็นบุญบารมี ภาษาอังกฤษอาจจะเรียกว่า cause recognition ภาษาธรรมเรียกว่าเหตุปัจจัย ทำให้เราเข้าใจว่าที่จริงแล้ว ชีวิตเราประสานกับ ทุกส่วน ถ้าไม่มีตรงนี้ในช่วงชีวิตนี้ก็คงไม่ได้ช่วยเปิดประตูตรงนี้แน่


ตอนนั้นไม่รู้สึกแปลกแยกกับเพื่อน ๆ ว่ามาสนใจเรื่องของคนแก่หรือคะ
ไม่ทราบว่าคนข้างนอกที่มองมาที่เราจะแปลกแยก หรือเปล่า แต่ในความรู้สึกของตัวเองในตอนนั้นไม่แปลกแยก เราอาจมี ความรู้สึกว่า เราเป็นคนที่ไม่ใช่เป็นคนส่วนใหญ่ แต่เราก็อยู่กลมกลืนกับเขาได้ ไปที่ไหนก็มีเพื่อน มีกัลยาณมิตรที่ดีตลอด มีเพื่อน คนสองคนที่คล้าย ๆ เรา อาจไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ก็เชื่อมกันได้
ตอนอยู่มหาวิทยาลัยมีบางช่วงที่รู้สึกว่า เราอยากเป็นคนที่คุยกับคนอื่นเก่งๆ ได้อย่างคนนั้นจังเลย ใจเราก็จะคิดว่า ทำไมเรา ไม่มีบุคลิกอย่างนั้นบ้าง ทำไมเราเงียบ ก็พยายามคุย พยายามปฏิสัมพันธ์ เข้าสังคมได้ socialise ได้ ตอนอยู่ปี 1 นั้น จะรู้สึก แปลกแยก แต่พอไปถึงหมู่บ้านพลัมในปี 2537 ก็รู้สึกว่า เราได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ เราเป็นอย่างที่เราอยากเป็น พูดอยู่ ในใจว่า ตอนอายุ 16 ปีที่ไปสวนโมกข์นั้น ถ้าเราไปหมู่บ้านพลัม เราคงบวชไปแล้ว


สวนโมกข์ทำให้ช้าลงหรือคะ
ไม่ใช่ค่ะ แต่หมู่บ้านพลัมไม่ได้เกิดตอนนั้น หมู่บ้านพลัมเพิ่งเกิดมาได้ 20 ปีเอง
ตอนที่ไปสวนโมกข์มีเงื่อนไขพอเพียงที่เรา จะเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ตัดสินใจว่า เป็นคนที่จะมีจิตวิญญาณเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่เงื่อนไขไม่เพียงพอที่ดึงเรา ให้อยากบวช พอมองกลับไปเราก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องเหตุปัจจัย ในเมืองไทยประเพณี การบวชของผู้หญิงมีแต่แม่ชีตลอด แล้วเราโตขึ้นมาเราก็เห็นแม่ชีเป็นคนรับใช้พระ ไปอยู่ก้นวัด ไม่เห็นแม่ชีได้เรียน ตอนนั้นคิดว่าเป็นฆราวาสผู้หญิงแล้วเอาพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไปสอน ไปใช้ประโยชน์ก็ได้ พอกลับไปมองก็เข้าใจว่า มันเป็นเหตุปัจจัย เพราะสภาพของเมืองไทยเป็นอย่างนี้นี่เอง เป็น collective consciousness หรือจิตสำนึกสะสมรวมของสังคมมันเป็นอย่างนี้ มันตกทอดมาตั้งเป็น หลายร้อยพันปีที่รู้สึกว่า ภาพพจน์ของผู้หญิง ถ้าบวชจะเป็นคนล้มเหลว คนอกหัก ก็เลยทำให้เราไม่ถูกดึงไปด้านนี้ และในจิตใต้สำนึกส่งให้เรามีลักษณะอย่างนี้ เลือกที่จะ มีชีวิตฆราวาส ไปเรียนหนังสือ แต่งงาน และออกไปทำงาน จนมาบวชตอนอายุ 36
ตอนอายุ 16 จะไปหาที่อื่นอย่างหมู่บ้านพลัมก็หาไม่ได้ ทำให้ยอมรับว่า จริงๆ ชีวิตเรา เป็นอะไรที่กว้างกว่าตัวเราเอง มันมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง กว่าคนคนหนึ่งจะ พร้อมที่จะบวชได้ มันมีเหตุปัจจัยที่ทั้งอยู่ใต้จิตสำนึกที่เป็นแรงเป็นตัวผลัก รู้สึกว่าชีวิตนี้ มีสายธารของมันไป ไม่ใช่ว่าเราเป็นเจ้าชีวิตในแง่ที่ว่าเป็นอัตตา ไม่ใช่ว่าเราคอนโทรล ชีวิตได้ทุกอย่าง มีความรู้สึกว่าการจะมีชีวิตในอุดมการณ์ได้นั้น จะมีเหตุปัจจัยเงื่อนไข พร้อมตามธรรมชาติของมัน คุณพ่อก็ต้องทำใจมาก ในครอบครัวก็ไม่มีใครคิดเรื่องนี้ เป็นเรื่องแปลกประหลาดพิสดาร คุณพ่อคุยกับ อาจารย์สุลักษณ์ (ศิวรักษ์) ว่า ผมมาจาก เมืองจีน ครอบครัวคนจีนผู้หญิงบวชไม่ได้ ผู้หญิงบวชถือว่าล้มเหลว หรือนอกจากว่า เป็นลูกกำพร้า ไม่มีใครเลี้ยงแล้วส่งเข้าวัด
พอได้มาอยู่ที่หมู่บ้านพลัม เรารู้สึกว่าเราได้สัมผัสสิ่งที่เป็นตัวเราเองจริงๆ เรารู้สึก เราได้เดินอย่างที่เราอยากเดิน เราได้ยิ้ม เราได้คุยอย่างที่เราอยากคุย เราได้นิ่งอย่างที่ เราอยากนิ่ง ไม่ต้องพยายามเป็นใครที่มากกว่าตัวเรา ไม่ต้องพยายามพูดมากเพื่อให้ คนอื่นฟังแล้วยอมรับเรา หรือเขาจะรู้สึกว่า เรา socialise เป็น หรือแสดงให้เขารู้ว่า เรามีความรู้ความคิดอย่างนี้ หรือจะต้องพยายาม please คนอื่นมากเกินไป หรือทำอะไร ที่ดูแล้วดี เพื่อให้คนอื่นชอบเรา เรารู้สึกว่า เราอยู่ตรงนั้นได้และเราเป็นตัวเราเอง อย่างสมบูรณ์ มีความนิ่ง มีความสงบ มีความเป็นอิสระเบา มีความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน พอไปถึงที่นั่นก็มีความรู้สึกปีติ ผุดขึ้นมา


ท่านมีแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้เดินทางไปพบหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ถึงยุโรปคะ
โดยส่วนตัวพื้นฐานมีความสนใจทางธรรม อยู่แล้ว และตอนนั้น (พ.ศ. 2536) ไปยุโรป ด้วยเหตุปัจจัยพร้อมในแง่ที่ว่าเราไปในเรื่องงาน เพราะเราทำงาน กับองค์การ American Friends Service Committee (AFSC) ซึ่งเป็นเอ็นจีโอองค์กรหนึ่งของอเมริกา แต่รับทุน จากทางยุโรปตะวันตก เพราะฉะนั้น ประเทศเหล่านั้นก็ให้ทุนเราเดินทางไปเยี่ยมองค์กร ผู้ให้ทุน เพื่อรายงานว่าเราทำโครงการไปถึงไหน มีความสำเร็จอย่างไร พอได้มีโอกาส ไปที่นั่นแล้ว ก็ขออยู่ต่อหลังจากที่ทำงานเสร็จ เพื่อที่จะเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาที่อยู่ทาง ตะวันตก เพราะเคยได้ยินอาจารย์โกวิท เอนกชัย หรือบางคนบอกว่า อนาคตพุทธศาสนา ทางเอเชียจะเสื่อมลง และพุทธศาสนาจากตะวันตกจะกลับมาทางเอเชียอีก และได้ข่าว ด้วยว่าทางตะวันตกเริ่มสนใจพุทธศาสนา และฝึกได้ดีพอสมควร เลยอยากไปดู ทั้งของ หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ที่ฝรั่งเศส และของอาจารย์ชาที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็ได้โทรติดต่อ ไปทางหมู่บ้านพลัมก่อน
ตอนที่โทรไปหมู่บ้านพลัม หลวงแม่คือ ซิสเตอร์เจิ่นคอม (ผู้เขียนหนังสือ รักที่แท้ หรือ Learning to Love) เป็นคนรับโทรศัพท์ ท่านเป็นภิกษุณีอาวุโส ท่านคงผ่านมา รับโทรศัพท์ ก็บอกท่านว่าเราเป็นคนไทยมาจากเมืองไทย ช่วงนี้เราต้องไปทำงานที่ยุโรป อยากจะไปที่หมู่บ้านพลัม ท่านบอกว่าไม่ต้องมาช่วงนั้น หลวงปู่และคณะจะไปเยอรมนี และท่านก็บอกหมดนะคะว่าให้โทรหาใครที่เยอรมนี เขาจัดที่ไหน มีความรู้สึกว่าเสียงท่าน ใส น่ารักมาก ใจดี ชวนคุย เราก็ถามท่านว่าชื่ออะไร ท่านบอกว่าชื่อ True Emptiness สัจจาสุญญตา
พอเราได้มีโอกาสมาอยู่หมู่บ้านพลัมจริงๆ เราก็ได้รู้ว่า ปกติท่านไม่รับโทรศัพท์ ท่านก็ถามว่ามาได้ยังไง เป็นคนไทยคนเดียว มีคนโทรไปที่หมู่บ้านพลัมหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่เคยเจอหลวงปู่เลย เราโทรไปครั้งเดียวแล้วท่านก็เป็นคนรับโทรศัพท์ และท่าน เป็นคนเดียวที่มีข้อมูลทั้งหมด เพราะท่านเป็นคนจัดรายการต่างๆ ให้หลวงปู่เดินทาง คนไทยมักจะเรียกเป็นโชค แต่ท่านบอกไม่ใช่โชค แต่เป็นเหตุปัจจัยที่มันพร้อม


ตอนเป็นฆราวาสท่านก็ฝึกปฏิบัติควบคู่กันไปด้วยอยู่แล้ว ทำไมจึงตัดสินใจบวชคะ
อันที่หนึ่งคือ พอฝึกไปแล้วมันเป็นแสงและมีความสุขมาก มีความสุขอย่างแท้จริง บอกไม่ถูก พอมีความสุขอย่างแท้จริงที่บอกไม่ถูก ก็รู้สึกว่าชีวิตนักบวชเป็นชีวิตที่ ประเสริฐมาก มันก็เลยปล่อยความติดยึดเรื่องการงาน เรื่องเงินทอง ฐานะที่เรามีได้ง่าย เพราะเราสัมผัสกับความสุขที่แท้จริง เราอยากอุทิศชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง ทุกชั่วขณะ ให้แก่การมีชีวิตแบบนี้ การฝึกปฏิบัติแบบนี้ และเรารู้ว่าพอเราฝึกตรงนี้ได้ เรามีความสุข ที่แท้จริง เราจะเห็นทางหลุดพ้น เราจะหลุดพ้นจากความทุกข์ของเราได้มากขึ้น และ สามารถจะช่วยคนอื่นได้มากขึ้น เป็นความตั้งใจที่มีมาตั้งแต่ยังสาวๆ ว่าเราอยากทำงาน ช่วยคนอื่น ทำอะไรก็ได้ที่พอจะช่วยคนอื่นได้บ้าง ก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้ออกไปจากสิ่งที่ เราตั้งปณิธานเกี่ยวกับชีวิตตนเอง แต่มันมีเพิ่มขึ้นมาอีกตรงที่ว่า ไปทางนี้แล้ว มันง่าย กว่าเยอะ มีความสุขมาก
ก่อนหน้านี้เคยมีความรู้สึกเหมือนว่าอยาก บวช แต่มีความรู้สึกอยากบวชเพราะ อยากหนี ทั้งเรื่องงานและเรื่องที่ต้องแก้ไขในชีวิต ตอนนั้นรู้เลยว่า ความรู้สึกอยากบวช ไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริง ก็เหมือนกับแม่ชีสมัยก่อน พอฝึกกับหลวงปู่ ท่านก็เป็นคนพา ให้กลับไปหาชีวิตเดิม ท่านบอกว่าต้องแก้ตรงที่เราอยู่เดี๋ยวนี้ กลับไปที่ที่เดิมที่มา และ ฝึกจากตรงนั้น
ฝึกไปเรื่อยๆ มันถึงเป็นแสงเป็นทางออกมาเลย ออกมาเองว่าไปทางนี้ ไม่เคยคิดว่า ตัวเองอยากจะเป็นภิกษุณี แต่ว่าฝึกแล้วเป็นแสงเป็นพลังแห่งการปฏิบัติ ในวันเกิดครบ รอบ 36 ปี เดินจงกรมแล้วได้รู้ว่าต้องมีชีวิตนักบวช แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร เพราะหลายอย่าง มันยังไม่ลงตัว
มีอยู่ช่วงหนึ่งตอนที่ทำงานอยู่ที่ยูนิเซฟ นายจ้างชวนเราว่าไปทำงานกับฉันไหม ฉันจะไปประเทศจีน ที่จริงเป็นตำแหน่งที่ดีและ เงินจะดีด้วย คิดอยู่แค่หนึ่งนาทีเอง พอคิดขึ้นมาปุ๊บแล้วเห็นเลยว่า ภาระที่จะต้องแบกรับและความทุกข์ต่างๆ แต่เมื่อไรที่คิดถึง หมู่บ้านพลัม คิดว่าจะได้ไปสัมผัสธรรมอีก หรือว่าเริ่มแปลงานหลวงปู่ หรือว่าอ่านหนังสือของหลวงปู่แล้ว เราจะมีพลังอย่างมากเลย เพราะเราทำเหมือนเราทำงานอดิเรก แต่ว่ามีความสุขมากๆ ก็เลยตามแสงทางธรรมตรงนี้ไป
ตอนนั้นก็จะมีคำถาม ทุกคนถามว่า อุ๊ย ถ้าผู้หญิงบวชจะล้มเหลว มีปัญหากับคู่ครองแล้วมาบวช หรือว่ามีความทุกข์ ไม่ประสบ ความสำเร็จในชีวิต แต่ลึกๆ ในตัวเรารู้ว่ามันไม่ใช่ มันมีอะไรที่มันลึกกว่านั้น ก็พยายามจะเข้าใจ ก็ฝึกเจริญสติ เจริญสติธรรมดา ไปเรื่อยๆ ไม่คิดมาก
มีสองสามเหตุการณ์ที่มักจะโผล่ขึ้นมากลางดึก ไม่ใช่ฝัน เป็นภาวะที่ตื่น แต่เป็นความเข้าใจว่ามาจากจิตใต้สำนึกขึ้นมา เห็นชัด เลยว่าระลึกถึงตอนที่อยู่ ป. 2 ไปงานศพย่า ย่าเป็นคนปทุมธานี เป็นคนมาจากเมืองจีน มีร้านขายทอง งานศพของคนจีนเขาจะทำ กงเต็ก และเชิญนักบวชคนจีนแคะมาสวด นักบวชเป็นผู้หญิง แต่ไม่เหมือนแม่ชีไทย ไม่โกนหัว แต่เก็บผมเรียบร้อย ใส่ชุดดำ เรารู้แต่ว่าเขาเป็นอย่างนี้ไปตลอดชีวิต กินเจ มีคำสวดที่เป็นคำสวดของจีน มีตีฆ้อง ตีฉิ่ง เพราะมาก
ตอนนั้นนั่งดูอยู่เฉยๆ รู้สึกว่าข้างในนิ่งเงียบ เขาทำอย่างนี้เจ็ดวัน หลานหลายคนจะร้องไห้ แต่เราไม่ร้อง คนจะว่าว่าเราไม่รักย่า เรามีความรู้สึกว่ารักย่า แต่ไม่รู้สึกว่ามันต้องโศกเศร้า ตอนเห็นเขาเดินสวดอยู่ เสียงเพลงที่สวดคล้ายมโหรี ก็มีความรู้สึกแรงมากว่า เราอยากมีชีวิตแบบนั้น สิ่งที่สัมผัสได้ก็คือสันติ สันติในตัวเขาเวลาเห็นเขาเดินสวด พอกลับมาดูอีกทีตอนเราโต เราอยากมีชีวิต แบบนั้น เพราะมันมีความงาม ความสงบ ความนิ่ง มีสันติ มีความเบิกบาน มีความรู้สึกว่า โอ้ เราเข้าใจแล้ว เข้าใจว่า มันก็มีอยู่ในตัวเรา มาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว แต่เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสรดน้ำตั้งแต่ตอนนั้น พอปี 2541 ได้บวช ตอนได้บวชก็เป็นช่วงที่มีความสุข เพราะมัน เหมือนเราได้เปลี่ยนชีวิตใหม่ มีความรู้สึกว่าเราไม่มีเงินเลย แต่เราร่ำรวยมาก (หัวเราะ)

เท่าที่ท่าน เห็นหรือเคยแลกเปลี่ยนกับภิกษุณีรูปอื่นในหมู่บ้านพลัม เหตุปัจจัยใด อันเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้ใครสักคน โดยเฉพาะผู้หญิง ที่ตัดสินใจบวชเป็นภิกษุณี
เหตุปัจจัยร่วมของการเป็นนักบวชคือ การมีจิตใจที่เป็นโพธิจิต มีจิตแห่งความรัก จิตที่ลึกๆ อยากจะมีชีวิตที่ลึกซึ้งมีความหมาย อยากจะใช้ความรักอย่างแท้จริง อยากจะ ช่วยตัวเองและช่วยผู้อื่น อยากจะทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่ มากไปกว่าการออกไปเรียน หนังสือให้จบ ได้ปริญญาหลายใบ ไปทำงาน มีครอบครัว มีเงินทองมากๆ มีลูกมีเต้า เลี้ยงหลาน มีครอบครัวที่มั่นคง คนที่มาบวชส่วนใหญ่พอคิดมาถึงตรงนี้แล้ว จะมี ความรู้สึกว่า ไม่แน่ใจว่าเราจะไปทางนี้ไหม เพราะรู้สึกว่ามันหนักอึ้ง มันเป็นทุกข์ อยากทำอะไรเพื่อให้ชีวิตมีอิสระมากกว่านี้ มีความเบาบางมากกว่านี้ คือมีจิตฝักใฝ่ตรงนี้ อยู่ทุกคน มีพระโพธิจิตอยู่ เพียงแต่ว่ามีแรงมากน้อยแค่ไหน บางคนมีแรง ก็จะเป็น อย่างที่หลวงย่าบางรูปบอกว่า จะอยู่บ้านไม่ได้เลยตั้งแต่อายุห้าหกขวบแล้ว ต้องเข้าวัด เพราะอยู่บ้านแล้วร้องไห้ อันนั้นเหมือนกับว่าเป็นจิตที่คงสั่งสมมาด้วยจากบรรพบุรุษ ที่ตกทอดมาอยู่ในทุกอณูเซลล์ของท่าน มีหลายรูปที่จะบวชตั้งแต่เด็ก เพราะว่าไปวัด แล้วชอบ
เหมือนกับที่นิรามิสาตัดสินใจไปวัด พอเราฝึกแล้วมันมีความสุข พอเรารู้สึกว่าเป็นสิ่ง ที่ดีสำหรับเรา เวลาเราปล่อยวางเรื่องอื่นๆ จึงเป็นเรื่องไม่ยาก ไม่ต้องพยายามปรับมัน แต่ปล่อยมันเหมือนตัดออกไป เพราะเรารู้สึกว่าได้สัมผัสกับความสุขที่แท้จริง เพราะเรา สามารถกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้ สามารถที่จะอยู่อย่างมีสติ อยู่กับลมหายใจ ฝึกไปเรื่อย ๆ แล้วรู้ว่า การกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะเป็นสิ่งที่มีความสุขลึกซึ้ง เปี่ยมปีติ และหาวาจาขึ้นมากล่าวไม่ได้ พอสัมผัสอย่างนั้นแล้วรู้สึกว่า ชีวิตเราไม่ต้องการอะไรอีก มันเป็นความสงบ เป็นความปีติสุขที่เราไม่ต้องหาอะไรอีกแล้ว

ตอนบวชใหม่ๆ ใช้ชีวิตเป็นสามเณรีนั้น เป็นอย่างไรบ้างคะ
ชีวิตสามเณรีที่หมู่บ้านพลัมเป็นชีวิต ที่งดงามมาก เพราะชีวิตของสามเณรีเป็นชีวิต เหมือนได้เกิดใหม่ บวชแล้วได้เหมือนเกิดใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในกายในใจเรา เหมือนได้รับพลังใหม่ทุกอณูเซลล์ พลังตรงนั้นทำให้เราสละความที่เคยทำงานมาก่อน เคยมีชื่อเสียง เคยมีเงินเดือน เคยมีทรัพย์สิน หรือเคยมีหน้ามีตาในบางเรื่อง เคยมีนิสัย แบบนี้ มีความเคยชินแบบนี้ ความสะดวกสบาย ความที่ตัวเองได้รับคำชื่นชมในบางอย่าง ในฐานะที่เป็นฆราวาส พอเราบวชเหมือนเราเกิดใหม่และเราปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง และมัน ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า เราเกิดมาเป็นทารกน้อยๆ ใหม่จริงๆ และความงามของสามเณร สามเณรีเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราได้เกิดเป็นลูกขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นลูกของอาจารย์ ของเรา ซึ่งเป็นผู้ที่ตกทอดมาจากพระพุทธเจ้า และมีโอกาสที่จะได้รับน้ำนมอันใหม่ คือ น้ำนมแห่งพระธรรมที่ให้ชีวิต
ชีวิตสามเณรีที่หมู่บ้านพลัมค่อนข้างจะ พิเศษ เพราะถ้าเป็นสามเณรีที่อยู่ในประเทศ เวียดนามหรือประเทศทางพุทธก็จะทำงานหนัก และไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ แต่ที่ หมู่บ้านพลัมหลวงปู่ท่านจะกลับตาลปัตรกัน ภิกษุณีต่างหากที่มีหน้าที่รับผิดชอบเยอะ และสามเณรีต่างหากที่จะมีโอกาสร่ำเรียน ปรกติแล้วถ้าเป็นในประเพณีเก่า ภิกษุณีเท่านั้น ที่จะมีโอกาสเป็นผู้อุปัฏฐากพระอาจารย์ได้ แต่ที่หมู่บ้านพลัม ผู้ที่เป็นสามเณรสามเณรี จะเป็นเณรอุปัฏฐากให้พระอาจารย์ เพราะท่านเห็นว่าเป็นเหมือนเด็กที่เกิดใหม่ เหมือนลูก ตัวน้อยๆ เหมือนทารกของท่าน ก็ต้องอยู่ใกล้ชิดและดูแล และให้โอกาสมากๆ ถ้าเป็น สายประเพณีเขาจะไม่ให้โอกาสเว้นแต่เราจะฝึกได้สมบูรณ์จริงๆ แล้วถึงจะทำได้
หลวงปู่ท่านเป็นนักปฏิวัติในลักษณะนี้ จึงทำให้ชีวิตของสามเณรีมีชีวิตที่อิ่มเอิบไปด้วย การหล่อเลี้ยงทางธรรม คำสอนของท่านก็เหมือนน้ำนมแห่งพระธรรม ช่วยให้เราเกิดใหม่ เติบโตใหม่ และให้เราเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่งที่จะน้อมรับสิ่งต่างๆ หรือยอมที่จะเปลี่ยนนิสัย ของตนเอง ยอมที่จะเข้าสู่กระแสธรรม เข้าสู่ครอบครัวแห่งธรรม เป็นชีวิตที่มีความสุขมาก ออกไปเดินเที่ยว ไปเดินสมาธิกับพี่ๆ น้องๆ ด้วยกัน ออกไปปิกนิก นั่งคุย ทำพิธีน้ำชา และ แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับทำไมถึงมาบวช เกิดอะไรขึ้น พอผู้หนึ่งเล่าเรื่องของตัวเองก็จะไป รดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก ให้พลังในการอยู่ร่วมกันได้มีพลังมากขึ้น เป็นชีวิตที่ได้เรียนรู้ เกี่ยวกับจริยาวัตรธรรมแบบใหม่
ชีวิตของสามเณรีนี้สำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าเราไม่เป็นสามเณรีที่มั่นคง มีพื้นฐานที่ดี การเป็นภิกษุณีก็ไม่สำเร็จ

ก่อนบวชและหลังบวชมีอะไรที่เป็น biggest transformation คะ
Biggest transformation คือความสุขค่ะ ความสุขปีติที่แท้จริงที่ได้รับจากการปฏิบัติ เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่า เราไม่เคยสัมผัสสิ่งนี้ มาก่อนเลย แล้วบอกเป็นคำพูดไม่ได้ เป็นพลังที่ไปตามแสงแห่งสติ ไปตามแสงแห่งพลังการปฏิบัติ และความที่ยังต้องกลับมาหา ฐานของจิตใต้สำนึกจริง ๆ ถ้าเรา transform ที่ฐาน เราก็ช่วยคนอื่น transform ได้อย่างแท้จริง เป็น transform at the base to help people all around, to help the world

เรื่องความต้องการทางเพศ สำหรับที่หมู่บ้านพลัมมีข้อแนะนำอย่างไร หลวงปู่ท่านมีอุบายอย่างไรที่จะให้นักบวช สามารถอยู่ได้
สิ่งแรกต้องเข้าใจก่อนว่า มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ถึงแม้ว่าอายุมากแล้ว คนก็ยังมีพลังทางเพศอยู่ มันเป็นพลังอันหนึ่งของ มนุษย์ ถ้าเกิดพลังนี้ขึ้นมาในตัวเรา เรากำหนดรู้ หายใจเข้าเรารู้ว่าพลังนี้ขึ้นมา ลมหายใจออกเรารู้ว่าเราจะดูแลพลังนี้ สิ่งหนึ่งที่เรา จะทำคือเราจะเบี่ยงเบนความสนใจ เราจะตั้งสติ ตั้งอธิษฐาน ตามลมหายใจ เรารู้ว่าเราจะเปลี่ยนแปรพลังนี้ไปใช้ในทางจิตวิญญาณ ที่เป็นประโยชน์ เมื่อพลังนี้เกิดขึ้นเราอาจจะไปอ่านพระธรรม หรือทำในสิ่งที่รดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความสุข เบิกบาน เราจะไม่จมอยู่กับ พลังตรงนี้ ข้อแรกคือกำหนดรู้พลังตรงนี้ขึ้นมา
ข้อที่ 2 คือ เราต้องทำอะไรที่ไปรดน้ำให้เกิดพลังทางจิตวิญญาณขึ้นมาแทน ไปรดน้ำแห่งความงดงามในตัวเรา ให้มีความสุขปีติ เบิกบาน เมื่อเรามีความสุขปีติเบิกบานที่แท้จริงแล้ว เรามีพระโพธิจิต หมายถึง จิตแห่งแรงบันดาลใจลึกๆ แห่งความเป็นนักบวช พลังเหล่านี้จะไม่หมด เราจะมีพลังอย่างมากตลอดที่เราอยากทำ ไม่ว่าจะเป็นการแปลหนังสือพระธรรมให้ชาวโลกได้รู้ เป็นการเขียน กลอน การทำครัวเพื่อให้สังฆะได้รับอาหารที่งดงาม หรือว่าไปทำสวน
เราต้องมีพลังโพธิจิตของเราว่า ทำไมถึงอยากบวช พลังความตั้งใจที่อยากจะบวช ต้องสร้างสรรค์พลังตรงนี้ตลอด ทุกวันเราจะต้องรดน้ำ และพลังตัวนี้จะบอกเราเองว่า ในวิชาชีพนักบวชจะต้องทำอย่างไร บวชแล้วก็เหมือนเป็นวิชาชีพอันหนึ่ง เป็น buddha's enterprise เป็นเหมือนเราทำกิจการร่วมกันกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงปู่ก็จะ เตือนว่าเราจะต้องรู้ว่าเราทำอะไรที่เราชอบจริงๆ หมายถึงว่า เราทำสิ่งนั้นแล้วเกิดความสุข ความปีติ และจะนำพลังแห่งโพธิจิตขึ้นมา เป็นนักบวชจะต้องศึกษาตรงนี้ และรดน้ำตรงนี้ ตลอด เราอาจจะชอบทำงานด้านเขียนหนังสือ ก็อาจจะเขียนหนังสือ บางคนอาจจะทำ อะไรในด้านการแต่งบทสวดมนต์ ก็จะแต่งเพลงสวดมนต์ ชีวิตนักบวชต้องหาตรงนี้ ไม่ปล่อยให้ไปตามทำนองหรือฝึกไปวันๆ ก็จะสายก็จะตายไป ถ้ามีความต้องการทางเพศ ขึ้นมา อยากจะมีครอบครัว อยากจะแต่งงาน อยากจะมีลูกขึ้นมา มันก็จะไม่อยู่ แต่ถ้าเรามี พลังพระโพธิจิตจะทำให้เราเกิดความสุขปีติเบิกบาน ถ้าเรามีความสุขปีติเบิกบาน พลังนี้จะ ไม่เกิดง่าย มันไม่ขึ้นมาง่ายๆ แต่ว่าถ้าเราไม่พยายามรดน้ำตรงนี้ไว้ และพอเราไปอยู่ใน สภาพสิ่งแวดล้อม หรือสภาพสังคมที่มีสิ่งเหล่านี้ทางด้านตา หู เป็นเพลง เป็นภาพ ถ้าเรา เห็นปุ๊บ มันเข้าไปรดน้ำ เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้ด้วยว่า เราจะปกป้องอายตนะทั้งหกของ เราอย่างไร
การหลีกหนีไปเสียจากตรงนั้นก็เป็นการปก ป้องตัวเอง เป็นการฝึกปฏิบัติศีลอย่างหนึ่ง ฝึกวัตรปฏิบัติทางธรรม กิริยามารยาททางธรรม เรารู้ว่าสิ่งไหนที่เรารับเข้ามาแล้ว มันสัมผัสอะไรในตัวบ้าง ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นอกุศลเราก็จะปกป้องตัวเอง ไม่รับสิ่งนั้นเข้ามา
เพราะฉะนั้นต้องมีเรื่องศีลเข้ามาช่วยแต่ ต้องเข้าใจศีลได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เป็นลักษณะไปห้ามไปกดพลังความกำหนัดทางเพศ เพราะมันก็จะยิ่งโตขึ้นมา เหมือนที่อธิบายเรื่องความโกรธ ถ้าไปกดปมความโกรธ ไม่ได้ปล่อยให้มันขึ้นมา แล้วเอาพลังสติโอบกอด มันจะโตขึ้นมา สักวันมันจะใหญ่มาก เราโอบกอดไว้ไม่ไหว เราจะต้องเสียไป จะต้องไปตามพลังนี้
ศีลจึงเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะถ้านักบวชไม่ได้มีความตรัสรู้ หรือว่ารู้ทันมากๆ จะต้องฝึกตามรู้ เพราะเรารู้ไม่เท่าทันตัวเอง นักบวช จะต้องศึกษาวัตรปฏิบัติทางธรรมก่อน ซึ่งจะบอกรายละเอียดเลยว่าเราจะต้องทำอย่างไร จะต้องเจริญสติกับการเดินอย่างไร เมื่อไป ถึงวัดที่อื่นจะต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้าอยู่ในวัดของผู้เป็นเพศตรงข้าม จะต้องทำอย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่สะสมมา เป็นเหมือนกับภูมิปัญญาส่งทอดกันมาแต่พุทธกาล เพื่อปกป้องเรา
ส่วนตัวนิรามิสาแล้วเป็นสิ่งที่เป็นบุญคุณ มาก ดีใจที่ว่าตั้งแต่สมัยพุทธกาลมีท่านเหล่านี้ที่หลงที่ทำผิดไปก่อน ให้เราเห็นว่าท่าน ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนสามัญธรรมดา ท่านมีความผิดพลาดบางอย่างไปแล้วก็เริ่มต้นใหม่ และเขียนสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเราเป็นข้อเตือน ให้เรา เพื่อที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องไปทำซ้ำรอยเดิม และเราก็ได้รับการปกป้องไปในตัว ศีลในสมัยนี้ก็ยังต้องทำอย่างนี้อยู่ค่ะ ยังต้อง มองให้ชัด ให้เติม ให้แก้ ให้เท่าทันตามความเป็นจริง


ท่านรู้สึกว่ามีสิ่งใดที่บั่นทอนหรือเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตในลักษณะนี้ และมีสิ่งใดที่เป็นพลังให้ท่านใช้ชีวิตเช่นนี้ต่อไปคะ
ชีวิตนักบวชก็เป็นชีวิตเหมือนกับการ ที่เราตัดสินใจจะปฏิวัติตัวเอง เหมือนเราตัดสินใจ เดินเข้าสู่สงคราม แต่เป็นสงครามแห่งสันติภาพ คือตัดสินใจที่จะไปสู่ทางหลุดพ้นจาก ทุกข์ การตัดสินใจคือการที่เราจะเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เรายอมที่จะเปิดตัวเอง เปิดจิตใต้สำนึก สัมผัสกับความดีงาม ยอมเผชิญกับความทุกข์ และหาวิธีที่จะเปลี่ยนแปร สภาพความทุกข์นั้นให้เป็นความสุข
เพราะฉะนั้นเมื่อมองอย่างนี้แล้ว ไม่เคยมีอุปสรรคในเรื่องที่บั่นทอนว่า เอ๊ะ เราเป็น นักบวชมาแล้วคุ้มไหม ไม่คุ้ม ไม่เคยคิดอย่างนั้น เราตัดสินใจบวช เพราะเรารู้แล้วว่า เราต้องอยู่ได้ด้วยวิธีนี้เท่านั้น วิถีชีวิตแบบนี้กลายเป็นเนื้อหนังมังสาของเรา ถ้าเกิดว่า ถ้าไม่อยู่แบบนี้ก็ไม่รู้จะอยู่แบบไหน ฉะนั้นจะเห็นว่า เป็นวิถีชีวิตที่เราต้องการจะอยู่จริงๆ
แต่สิ่งที่จะผลักเราออกไปจากชีวิตนักบวช คือความทุกข์ในตัวเราเอง เวลาที่เรามี ความทุกข์ในตัวเอง เราไม่รู้วิธีที่เราจะดูแลความทุกข์ของเรา ไม่รู้วิธีที่จะเปลี่ยนแปร สภาวะความทุกข์ของเรา ตัวเราเองเป็นตัวที่จะผลักเราออกไปจากสังฆะ ตัวเราเองเป็น ตัวที่บั่นทอนตัวเราเอง และตัวเราเองเป็นผู้ที่ออกจากชีวิตนักบวช
ช่วงที่บวชใหม่ๆ ตอนที่เป็นสามเณรีก็จะมีช่วงเดียวที่มีความรู้สึกว่า โอ้โห ทำไมความ ทุกข์ในตัวเรามันช่างเยอะมากขนาดนี้ และจะมีแค่แว๊บเดียวเท่านั้นที่ตั้งคำถามว่า เอ๊ะ เดี๋ยวเราออกไปอยู่กับเพื่อนดีไหม เราก็จะช็อก เอ๊ะ เราคิดอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะเรา รู้สึกว่าพลังที่เราจะอยู่เป็นนักบวชไปตลอดชีวิตนี้แรงมาก แต่ว่าด้วยความที่มีพลังแห่งสติ เพราะฉะนั้นกลับมาอยู่กับลมหายใจ เพราะเรารู้แล้วว่า หายใจเข้า อ๊ะ อันนี้เป็นความคิดที่ ไม่ก่อเกิดประโยชน์ หายใจออก เราก็ปล่อยวาง
พอบอกกับสังฆะ สังฆะก็จะช่วยโอบรับเรา พอใครมาดูก็บอกว่า ไม่น่าตกใจ เพราะว่า ในช่วงนั้นอายุยังน้อย ทั้งอายุการบวชและวิธีที่จะดูแลความทุกข์ เราไม่รู้จักวิธีดูแลที่ ถูกต้องเพียงพอ เพราะฉะนั้น ต้องทำให้เมล็ดพันธุ์ตรงนี้ที่อยากจะหนีออกไป หนีออกจาก ทุกข์ของตัวเองเกิดขึ้นมาได้ พอเรามีพลังแห่งสติมันก็เกิดขึ้นมาแว๊บเดียวเอง แล้วก็ลงไป
แต่ถ้าบางคนที่พลังแห่งสติไม่แรงพอ พลังแห่งโพธิจิตไม่แรงพอ หรือว่ารากฐานแห่ง ความเป็นพุทธะ หรือบุญบารมีของบรรพบุรุษไม่แรงพอ ก็ออกไปได้ง่าย แต่สิ่งที่จะช่วย คือสังฆะ สังฆะจะช่วยโอบอุ้มเราไว้
ทีนี้ มีพลังอะไรบ้างที่ทำให้อยู่ในชีวิตนักบวช ที่ผ่านมาเวลาที่ชุมชนสังฆะที่หมู่บ้านพลัม ที่เราเห็นคือพลังแห่งบรรพบุรุษ เวลาคิดถึงบรรพบุรุษทางจิตวิญญาณที่เมืองไทย คิดถึง บรรดาครูบาอาจารย์ที่เมืองไทยที่เราเคยรู้จัก หรือบรรพบุรุษทางจิตวิญญาณที่ตกทอดมา จากหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ จาก ประเทศจีน จากเวียดนาม เรามีพลังขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เช่น เอ๊ะ ทำไมหลวงพี่คนนี้ หรือหลวงน้องคนนี้มีท่าที แบบนี้ เราไม่ชอบเลย ความรู้สึกอย่างนี้ทำให้เราอึดอัดใจ บางทีเราก็คิดว่าทำไมเราอยู่ตรงนี้ ทำไมเราถึงบวช แต่ถ้าคิดถึงบรรพบุรุษของเรานะคะ พลังมันมาอย่างที่บอกไม่ถูก รู้สึกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก และเราปล่อยวางได้ง่ายมาก


มีความยากลำบากในการแปรเปลี่ยนลักษณะนิสัยบางอย่างภายในตัวเองมากไหม
เวลาเรามีวิถีชีวิตของนักบวช เราเรียนรู้ที่จะเกิดใหม่ บ่มเพาะนิสัยดีๆ มีจริยาวัตรทางธรรม ความเมตตากรุณา เรียนรู้ที่จะสัมผัส กับความดีงามในทุกๆ วัน สัมผัสกับสิ่งที่หล่อเลี้ยงบำรุงจิตใจเรา ในขณะเดียวกันสิ่งที่เป็นนิสัยไม่ดีที่เกิดขึ้นมา เราก็เรียนรู้ที่จะ แปรเปลี่ยน อันนั้นเป็นเรื่องปรกติของชีวิตนักบวชที่ต้องทำทุกวัน วิถีชีวิตนักบวชเป็นอย่างนั้น มันไม่ใช่การต่อสู้ เพราะเรามีชีวิตที่จะ ขัดเกลาตัวเองให้บริสุทธิ์สดใส และมีความแจ่มใสในวิถีปฏิบัติ มีปัญญาเกิดขึ้นเพื่อเราจะเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดขึ้น เข้าใจสิ่งต่างๆ ลึกซึ้ง เข้าใจตัวเองเข้าใจคนอื่น เราจะได้ช่วยตัวเอง ช่วยโลก ช่วยสังคม ได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นมันเป็นวิถีชีวิตปรกติของเราจริงๆ ไม่ใช่การที่จะต้องต่อสู้ เพื่อให้เรากลายเป็นคนใดคนหนึ่ง


คำว่าช่วยโลก ช่วยสังคม ในฐานะของภิกษุภิกษุณีคืออะไรคะ
อันแรกคือเราต้องฝึกปฏิบัติเรียนรู้ที่จะ เข้าใจตัวเองก่อน เรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเอง เรียนรู้ที่จะมีวิธีช่วยตัวเองให้หลุดออกจากทุกข์ ในเวลาที่เราเป็นทุกข์ ในขณะเดียวกันเวลาที่เราทำอย่างนั้นได้ เราก็มีจิตใจที่จะช่วยคนอื่นไปโดยปริยาย พอเราผ่านทุกข์มา เรารู้สึกว่าเราไม่อยากให้คนอื่นเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น มันมีพลังแห่งความกรุณาที่เราอยากจะช่วยคนอื่น บางคนที่เข้ามาหมู่บ้านพลัม เขาเป็นทุกข์ เราก็สามารถที่จะแลกเปลี่ยนช่วยเขาได้ เวลาโลกเกิดสงครามขึ้นมา เราก็รู้วิธีที่จะกลับมาอยู่กับลมหายใจอย่างไร จะเดินทุกย่างก้าวอย่างเป็นสันติ เวลาที่มีทัศนะที่ถูกต้อง มีความนิ่งพอ มีความชัดพอแล้ว เราจะช่วยอธิบาย ช่วยกล่อมเกลาคนอื่น ช่วยคนอื่นให้มีกำลังใจมากขึ้น พอทุกคนทำอย่างนี้ก็จะทำให้มีสภาพแห่งสันติวิธีเกิดขึ้น เพราะสงครามที่เกิดขึ้น จริงๆ แล้ว เกิดจาก สงครามในตัวเองของทุกๆ คน ความโกรธ ความกลัว ความที่เป็นมิจฉาทิฐิที่มองสภาพเหตุการณ์และเหตุไม่ถูกต้อง แต่ละคนมีความ ขุ่นมัวตรงนี้ เมื่อมีความขุ่นมัวในระดับประเทศ ก็ทำให้เป็นกิจกรรมของสงครามได้ ถ้าเราจะช่วยสังคม ก็คือรู้จักที่จะอยู่กับตัวเอง ตามลมหายใจอย่างสงบ เหมือนน้ำใสที่นิ่งพอจะมองสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ไม่แบ่งว่าอันนี้เป็นฝ่ายอิรัก อันนี้เป็นฝ่ายอเมริกา แต่มอง ให้เห็นว่า เหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้อิรักมีพฤติกรรมแบบนั้น เหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้อเมริกาต้องคิดออกมาแบบนั้น เขาไปติดอยู่ ตรงไหนบ้าง

Commentaires


bottom of page