ต่อไปนี้ คือสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับฟังมา
ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ณ วัดเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในครั้งนั้น พระพุทธองค์ตรัสบอก พระภิกษุทั้งหลายว่า
“มีอาหารอยู่ 4 ประเภทที่ช่วยให้สรรพชีวิตเติบโตและดำรงชีวิตอยู่ได้ อาหารสี่ประเภทนั้นมีอะไรบ้าง?”
อย่างแรก ได้แก่ อาหารที่รับผ่านทางปาก
อย่างที่ 2 ได้แก่ อาหารทางประสาทสัมผัส
อย่างที่ 3 ได้แก่ อาหารทางความปรารถนา
อย่างที่ 4 ได้แก่ อาหารทางวิญญาณ
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุควรจะพิจารณาเห็นอาหารที่รับผ่านทางปาก อย่างไร?
เปรียบเสมือนกับ สามีภรรยาคู่หนึ่งซึ่งมีลูกน้อยคนหนึ่งที่คอยดูแลเอาใจใส่และให้ความรักเสมอ แล้ววันหนึ่งพวกเขาก็พาลูกน้อย (อพยพไปอยู่อาศัยที่ถิ่นอื่น) ข้ามผ่านทะเลทรายอันทุรกันดาร เต็มไปด้วยอันตรายและหายนภัย แต่แล้วเกิดหมดเสบียงระหว่างทาง ตกอยู่ในภาวะหิวกระหายอย่างถึงที่สุด คิดหาทางออกไม่ได้ จึงปรึกษากันว่า “ เรามีลูกชายสุดที่รักเพียงคนเดียว ถ้าได้กินเนื้อลูกเราก็คงจะข้ามผ่านแดนอันตรายนี้ไปได้ ไม่อย่างนั้นพวกเราคงจะพากันตายหมดทั้ง 3 คนแน่นอน” ปรึกษากันดังนี้แล้ว เขาก็ฆ่าลูกน้อย ทั้งเสียใจจนน้ำตาไหลพราก และฝืนกัดกินเนื้อลูก เพื่อจะยังชีพให้ข้ามพ้นทะเลทรายไปได้
ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอคิดว่า สามี-ภรรยาคู่นั้นกินเนื้อลูก เพราะอยากจะลิ้มรสของเนื้อนั้น หรือว่าเพราะอยากให้ร่างกายของเขามีสารบำรุงให้ดูสวยสด งดงามมากยิ่งขึ้นหรือ?
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ใช่อย่างนั้นเลย”
ทรงถามต่อไป “ สามีภรรยาคู่นั้นถูกบังคับให้ต้องฝืนกินเนื้อลูกเพื่อจะได้รอดชีวิตผ่านหนทางอันตรายและแห้งแล้งกันดารนั้น ใช่ไหม?
“ถูกต้องเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระพุทธองค์จึงตรัสสอน “ภิกษุทั้งหลาย ทุกครั้งเมื่อเรารับเอาอาหารที่รับผ่านทางปาก เราจะต้องฝึกพิจารณาเห็นเป็นเช่นนี้ เมื่อพิจารณาเห็นเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะบรรลุถึงความเห็นชัด ความเข้าใจแจ่มแจ้งเกี่ยวกับอาหารที่เป็นคำข้าว เมื่อได้มีความเห็นชัดและเข้าใจแจ่มแจ้งเกี่ยวกับอาหารที่เป็นคำข้าวแล้ว จิตที่ติดใจอยู่กับความเพลิดเพลินประสาทสัมผัสก็จะสลายสิ้นไป เมื่อจิตที่ติดใจได้สูญสลายไปแล้วก็จะไม่มีปมผูกมัดเกี่ยวกับความเพลิดเพลินประสาทสัมผัสทั้ง 5 อันใดเลยที่จะไม่สูญสลายไปในตัวพระสาวกผู้ประเสริฐ ผู้ได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติแล้ว ตราบใดที่ยังมีปมผูกมัด ก็จะยังต้องกลับมาสู่โลกนี้อีก
“ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุควรพิจารณาเห็นอาหารทางประสาทสัมผัส อย่างไร?
เปรียบเสมือนกับ วัวตัวหนึ่งที่ถูกถลกหนังออก จะไปที่ไหน มันก็ถูก พวกตัวแมลงตามดินทราย ฝุ่นละออง ต้นไม้ใบหญ้า มาเกาะกัดกินเลือดถ้ามันอยู่บนพื้นดินก็จะถูกพวกแมลงตามพื้นดินกัดกิน ถ้ามันลงน้ำก็จะถูกพวกแมลงในน้ำกัดกิน ถ้ายืนอยู่กลางอากาศก็จะถูกหมู่แมลงในอากาศมาเกาะกัดกิน จะนอนลงหรือยืนขึ้น มันก็รู้สึกรำคาญ เจ็บแสบตามลำตัวไปทั้งหมด
ภิกษุทั้งหลาย! ทุกครั้ง เมื่อเรารับประทานอาหารประสาทสัมผัสเราจะต้องฝึกพิจารณาให้เห็นเป็นเช่นนี้ เมื่อพิจารณาเห็นเช่นนี้แล้ว เราจะบรรลุถึงความเห็นชัดและเข้าใจแจ่มแจ้ง เกี่ยวกับอาหารทางประสาทสัมผัส เมื่อได้มีความเห็นชัดและเข้าใจแจ่มแจ้ง เกี่ยวกับอาหารทางประสามสัมผัสแล้ว เราก็จะไม่ติดใจเข้ากับความรู้สึก(เวทนา) ทั้ง 3 อย่าง อีกต่อไป พระสาวกผู้ประเสริฐที่ได้ศึกษาและปฏิบัติ ไม่ต้องใช้กำลังพยายามอันใดอีกเพราะทุกสิ่งที่จะต้องทำได้ทำเสร็จลงแล้ว
“ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุควรพิจารณาเห็นอาหารทางความปรารถนาอย่างไร?
เปรียบเสมือนกับว่า มีเมืองหรือหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ถูกไฟไหม้เผาผลาญจนถึงขึ้นไม่มีเปลวควันไฟให้เห็นอีก ตอนนั้นมีชายผู้ฉลาดคนหนึ่ง เป็นคนมีปัญญา ไม่ต้องการความทุกข์มุ่งหมายแต่ความสุข ไม่ต้องการไปสู่ความตาย มุ่งหมายแต่จะมีชีวิตอยู่ เขาคิดว่า“ที่แห่งโน้นมีเพลิงเผาไหม้ใหญ่ ไม่มีเปลวควัน ไม่มีเปลวไฟ แต่ถ้าเราไม่หลีกหนี แล้วเดินตรงเข้าไปที่นั่นก็คงจะต้องตายแน่นอน โดยที่ไม่ต้องสงสัยเลย” คิดอย่างนี้แล้ว ชายคนนั้นก็ยอมปรารถนาแต่จะหลีกหนีไปให้ไกล
สำหรับอาหารทางปรารถนา ก็จะต้องพิจารณาให้เห็นเป็นเช่นนี้ เมื่อได้พิจารณาให้เห็นเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะบรรลุถึงความเห็นชัดและเข้าใจแจ่มแจ้งเกี่ยวกับอาหารทางความปรารถนา เมื่อได้มีความเห็นชัดและเข้าใจแจ่มแจ้งเกี่ยวกับอาหารทางความปรารถนาแล้วความทะยานอยาก(ตัณหา) ทั้ง 3 ชนิดก็จะสลายสิ้นไป ครั้นความทะยานอยากทั้ง 3 ชนิดสิ้นไปแล้ว พระสาวกผู้ประเสริฐที่ได้ศึกษาได้ปฏิบัติ ก็ไม่ต้องใช้กำลังพยายามทำอะไรอีก เพราะทุกสิ่งที่จะต้องทำได้ทำเสร็จลงแล้ว
“ภิกษุทั้งหลาย! ควรพิจารณาเห็นอาหารทางวิญญาณอย่างไร?
เปรียบเสมือน เจ้าหน้าที่ตำรวจของพระราชาแห่งแคว้นหนึ่งเพิ่งจะจับตัวโจรได้ จึงมัดตัวนำมากราบบังคมทูลพระราชา ด้วยความผิดฐานขโมยทรัพย์นั้นจึงถูกลงทัณฑ์โดยการถูกแทงร่างกายด้วยหอก 300 เล่ม จนเจ็บปวดทรมานแสนสาหัสทั้งวันทั้งคืน
สำหรับอาหารทางวิญญาณนี้ ก็จะต้องพิจารณาให้เห็นเป็นเช่นนี้เมื่อพิจารณาเห็นได้เช่นนี้แล้วก็จะบรรลุถึงความเห็นชัดและเข้าใจแจ่มแจ้ง เกี่ยวกับอาหารทางวิญญาณ เมื่อได้มีความเห็นชัดและเข้าใจแจ่มแจ้งเกี่ยวกับอาหารทางวิญญาณ(ความสำนึกรู้)แล้ว ก็จะบรรลุถึงความเห็นชัดเจนและเข้าใจแจ่มแจ้งเกี่ยวกับกายและใจ(นามรูป) เมื่อได้มีความเห็นชัดเจนและเข้าใจแจ่มแจ้งเกี่ยวกับกายใจแล้ว พระสาวกผู้ประเสริฐที่ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติก็ไม่ต้องใช้กำลังพยายามอีกต่อไป เพราะสิ่งที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว”
พระพุทธองค์ ตรัสพระสูตรนี้จบแล้ว บรรดาพระภิกษุต่างเบิกบานยินดีและน้อมนำไปปฏิบัติ
จาก สังยุกตอาคมะ พระสูตรที่ 373 พระไตรปิฎกจีน