ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อคราวที่พระองค์ ประทับ ณ วัดเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกะ ใกล้เมืองสาวัตถี ในครั้งนั้นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีป่วยหนัก เมื่อพระสารีบุตรทราบเรื่อง ท่านได้ไปพบพระอานนท์ในทันที และกล่าวกับพระอานนท์ว่า
“ท่านอานนท์ เราไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑิกะ กันเถิด”
พระอานนท์ได้ตอบว่า
“ตกลง เราไปเดี๋ยวนี้เถิด”
แล้วพระอานนท์ได้ห่มจีวร อุ้มบาตร และออกเดินทางเข้าไปในเมืองสาวัตถีพร้อมกับพระสารีบุตร เพื่อบิณฑบาตพระอานนท์เดินตามหลังพระสารีบุตร และหยุดรับบาตรตามลำดับทุก
บ้าน จนกระทั่งมาถึงบ้านของท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านทั้งสองจึงได้เข้าไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑิกะ
หลังจากนั่งลงแล้ว พระสารีบุตรได้ถามท่านอนาถบิณฑิกะว่า “อาการของท่านเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือแย่ลง ความเจ็บปวดทางกายของท่านเบาบาลงหรือว่าเพิ่มมากขึ้น”
ท่านอนาถบิณฑิกะ ตอบว่า “พระคุณเจ้า อาการของข้าพเจ้าไม่ดีขึ้น ความเจ็บปวดไม่เบาบางลง แต่มากขึ้นตามลำดับ”
พระสารีบุตรกล่าวว่า “สหาย นี่เป็นเวลาที่จะฝึกปฏิบัติสมาธิ ระลึกถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และ สังฆะ”
“พระพุทธองค์ ทรงเป็นตถาคต ผู้ไปสู่ความเป็นเช่นนั้นเอง เป็นผู้ตื่นรู้ อย่างแท้จริงและสมบูรณ์ มีความเข้าใจและการกระทำอันสมบูรณ์เพียบพร้อมได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง เข้าใจถึงธรรมชาติของโลก ไม่มีผู้ใดเทียบเทียมได้ เอาชนะกิเลสทั้งปวงของมนุษย์ เป็นครูของมวลมนุษย์และเทวดา เป็นพระผู้ ตื่นรู้ ผู้ปลดปล่อยโลกนี้”
“พระธรรม คือ คำสอนของพระตถาคต เกี่ยวกับความรักและความเข้าใจ พระธรรมนั้นลึกซึ้งและประเสริฐยิ่ง ควรค่าแก่การเคารพยกย่องอย่างสูงสุด เป็นคำสอนที่ไม่มีคำสอนใดเทียบเทียม เป็นหนทางแห่งการปฏิบัติของเหล่าพระอริยะผู้ประเสริฐ”
“สังฆะ คือชุมชน ผู้ปฎิบัติตามคำสอนขององค์ผู้ตื่นรู้ ชุมชนซึ่งกลมกลืนสมานฉันท์ ปราศจากการวิวาทขัดแย้ง มีการปฏิบัติตามคำสอนได้สำเร็จเป็นจริงในทุกด้าน เป็นชุมชนอันประเสริฐและเป็นที่เคารพ เป็นชุมชนซึ่งสมบูรณ์ ในการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญารู้แจ้ง และ ความหลุดพ้น สังฆะเป็นผืนนาบุญอันประเสริฐสูงสุดในโลก”
“สหายอนาถบิณฑิกะ ถ้าท่านทำสมาธิถึง พระพุทธ พระธรรม และสังฆะ เช่นนี้แล้ว ผลที่ได้รับนั้นมากนับประมาณ ด้วยการทำสมาธิเช่นนี้ ท่านจะสามารถขจัดสิ่งกีดขวางซึ่งได้แก่บาปกรรมและกิเลส ท่านสามารถเก็บเกี่ยวผลอันสดและหวานชื่นของความกรุณา หญิงและ
ชายในครอบครัวที่ดี ผู้ซึ่งปฏิบัติตนอย่างซื่อตรง และรู้วิธีการทำสมาธิระลึกถึงพระรัตนตรัย จะไม่มีโอกาสตกไปสู่ภพที่ต่ำ อย่างนรก ผีเปรต สัตว์เดรัจฉาน แต่จะเกิดใหม่ในสภาพแวดล้อมที่ดีงาม คือภพของมนุษย์และเทวดา”
“สหายอนาถบิณฑิกะ นี่เป็นเวลาที่จะฝึกปฏิบัติสมาธิเกี่ยวกับ ประสาทรับรู้ทั้งหก (อายตนะ ๖)
ดวงตานี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับดวงตานี้
หูนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับหูนี้
จมูกนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับจมูกนี้
ลิ้นนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับลิ้นนี้
ร่างกายนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับร่างกายนี้
ใจนี้ไม่ใช่ฉัน ไม่ติดอยู่กับใจนี้
ขอให้ท่านทำสมาธิกับ สิ่งที่ประสาทรับรู้ทั้งหกสัมผัส
รูปนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับรูปนี้
เสียงนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับเสียงนี้
กลิ่นนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับกลิ่นนี้
รสนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับรสนี้
สัมผัสต่อร่างกายนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับสัมผัสนี้
ความคิดนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับความคิดนี้
ขอให้ท่านทำสมาธิกับ วิญญาณประสาทรับรู้ทั้งหก
การเห็นไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับการเห็นนี้
การได้ยินไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับการได้ยินนี้
การดมกลิ่นไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับการดมกลิ่นนี้
การลิ้มรสนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับการลิ้มรสนี้
การสัมผัสทางกายนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับการสัมผัสทางกายนี้
การสำนึกรู้ทางใจนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับการสำนึกรู้ทางใจนี้
ขอให้ท่านทำสมาธิกับ ธาตุทั้งหก
ธาตุดินนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับธาตุดินนี้
ธาตุน้ำนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับธาตุน้ำนี้
ธาตุไฟนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับธาตุไฟนี้
ธาตุลมนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับธาตุลมนี้
ธาตุที่ว่างนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับธาตุที่ว่างนี้
ธาตุวิญญาณรับรู้นี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ติดอยู่กับธาตุวิญญาณรับรู้นี้
ขอให้ท่านทำสมาธิกับ ขันธ์ทั้งห้า
ร่างกายนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงร่างกายนี้
ความรู้สึกนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงความรู้สึกนี้
การรับรู้นี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงการรับรู้นี้
จิตปรุงแต่งนี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงจิตปรุงแต่งนี้
ความสำนึกรู้นี้ไม่ใช่ฉัน ฉันไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงความสำนึกรู้นี้
ขอให้ท่านทำสมาธิกับ กาลเวลาทั้งสาม
อดีตไม่ใช่ตัวฉัน ฉันไม่ถูกจำกัดอยู่โดยอดีต
ปั จจุบันไม่ใช่ตัวฉัน ฉันไม่ถูกจำกัดโดยปั จจุบัน
อนาคตไม่ใช่ตัวฉัน ฉันไม่ถูกจำกัดโดยอนาคต
“สหายอนาถบิณฑิกะ ทุกสิ่งปรากฏขึ้นด้วยเหตุและปัจจัยและดับลง ด้วยเหตุและปัจจัย อันที่จริง ทุกสิ่งมีธรรมชาติของการไม่เกิดและไม่ตาย ไม่ มาและไม่ไป เมื่อดวงตาปรากฏ ดวงตาปรากฏ ดวงตาไม่ได้มาจากที่ใด เมื่อดวงตาสิ้นสุดการปรากฏ ดวงตาสิ้นสุดการปรากฏ ดวงตาไม่ได้ไปสู่ที่ใด ดวงตานั้นมิใช่ไม่มีอยู่ ก่อนที่จะปรากฏขึ้น และมิใช่มีอยู่หลังจากปรากฏขึ้น ทุกสิ่งปรากฏขึ้นจากเหตุและปัจจัยเมื่อเหตุและปัจจัยสมบูรณ์พร้อม ดวงตาจึงปรากฏขึ้น เมื่อเหตุและปัจจัยไม่สมบูรณ์ดวงตาไม่ปรากฏ นี้เป็นเช่นเดียวกันกับ หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่นเดียวกับรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิด
เช่นเดียวกับการเห็น การได้ยิน ความสำนึกรู้ทางจมูก ความสำนึกรู้ทางลิ้นความสำนึกรู้ทางสัมผัสต่อร่างกาย และความสำนึกรู้ทางจิตรับรู้ เช่นเดียวกับธาตุทั้งหก ขันธ์ทั้งห้า และ เวลาทั้งสาม”
“ในขันธ์ทั้งห้า ไม่มีสิ่งใดที่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็น “ฉัน” “บุคคล”
หรือ “ดวงวิญญาณ”
ความไม่รู้ (อวิชชา) คือ การไม่มีความสามารถที่จะมองเห็นความจริงข้อนี้
เพราะความไม่รู้ จึงเกิด การปรุงแต่งอย่างผิดพลาด
เพราะการปรุงแต่งอย่างผิดพลาด จึงเกิดความสำนึกรู้อย่างผิดพลาด
เพราะมีความสำนึกรู้อย่างผิดพลาด จึงเกิดความแบ่งแยกระหว่าง ผู้รับรู้และสิ่งที่ถูกรับรู้ เกิดความแบ่งแยกระหว่างประสาทรับรู้ทั้งหก และสิ่งรับรู้ทั้งหก
เพราะความแบ่งแยกระหว่างประสาทรับรู้ทั้งหกและสิ่งรับรู้ทั้งหก จึงเกิด การสัมผัส
เพราะการสัมผัส จึงเกิด ความรู้สึก
เพราะความรู้สึก จึงเกิด ความอยาก
เพราะความอยาก จึงเกิด การยึดไว้ เพราะการยึดไว้ จึงเกิด การมีการเป็น
เพราะการมีการเป็น จึงมีการเกิด และการตาย และความเจ็บปวดเศร้าโศก”
“สหาย อนาถบิณฑิกะ ท่านได้ทำสมาธิ กับทุกสิ่งซึ่งปรากฏขึ้นจากเหตุและปัจจัย และ ไม่มีตัวตนเฉพาะ นั้นคือ การทำสมาธิกับความว่าง (สุญญตา) นี่เป็นการทำสมาธิที่สูงส่งเป็นอันดับหนึ่งทีเดียว”
เมื่อได้ทำสมาธิถึงตรงนี้ ท่านอนาถบิณฑิกะได้หลั่งน้ำตา พระอานนท์ ได้ถามท่านว่า
“สหาย เหตุใดท่านจึงหลั่งน้ำตา การทำสมาธิของท่านไม่ประสบผลสำเร็จหรือ? หรือท่านมีสิ่งใดที่ยังรู้สึกเสียใจ”
ท่านอนาถบิณฑิกะ ได้ตอบว่า “พระคุณเจ้าอานนท์ ข้าพเจ้าไม่มีสิ่งใดที่รู้สึกเสียใจ การทำสมาธินั้นประสบผลสำเร็จ ข้าพเจ้าหลั่งน้ำตา เพราะข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจอย่างลึกซึ้ง ข้าพเจ้าได้รับใช้พระพุทธองค์และสังฆะของพระองค์เป็นเวลาหลายปี แต่ไม่เคยได้ยินคำสอนที่มหัศจรรย์และประเสริฐดังที่พระสารีบุตรได้ถ่ายทอดในวันนี้”
พระอานนท์ จึงได้กล่าวกับท่านอนาถบิณฑิกะว่า “สหาย ท่านไม่ทราบหรือว่าพระพุทธองค์ได้ทรงสอนสั่งพระภิกษุ และพระภิกษุณี เช่นนี้เสมอ”
ท่านอนาถบิณฑิกะได้ตอบว่า “พระคุณเจ้าอานนท์ ได้โปรดกราบทูลพระพุทธองค์เพื่อให้เหล่าฆราวาสมีโอกาสได้รับฟังคำสอนที่ลึกซึ้ง และมหัศจรรย์นี้ อาจมีเหล่าฆราวาสที่ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะฟังเข้าใจและปฏิบัติตามคำสอนเช่นคำสอนนี้ แต่ก็ยังมีเหล่าฆราวาสที่มีความสามารถเพียงพอที่จะฟัง เข้าใจ และปฏิบัติตามคำสอนที่ลึกซึ้ง และมหัศจรรย์เช่นคำ
สอนนี้”
หลังจากได้ฟังพระสารีบุตรกล่าวสอนและทำสมาธิตามคำสอนนั้น ท่านอนาถบิณฑิกะก็รู้สึกเบาสบายและเป็นอิสระ ครั้นพระสารีบุตรและพระอานนท์ ได้กล่าวลาและกลับไปยังวัดเชตวัน
ท่านอนาถบิณฑิกะก็สิ้นชีวิตลงและได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เอโกตตร อาคม 51.8 พระไตรปิฎกจีน
(เทียบเคียงกับ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกบาลี 143-145 และ มัธยมอาคมะ 26)