top of page

พระสูตรขุมคลังแห่งคุณธรรมอันล้ำค่าการฝึกฝนความเข้าใจอันสมบูรณ์

ปรัชญาปารมิตารัตนคุณสํจยคาถา

 

พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาจะขจัดอุปสรรคและกิเลสทั้งหลายในชีวิตนี้

ตั้งจิตบริสุทธิ์ด้วยศรัทธาต่อพระนิพพาน

ดำรงอยู่ในความสงบนิ่งเปี่ยมรู้

ควรปฏิบัติตนตามจริยาแห่งความเข้าใจอันสมบูรณ์ (ปรัชญาปารมิตา)

 

แม่น้ำทั้งหลายซึ่งไหลรินไปในชมพูทวีป

อำนวยให้ดอกผล พืชสมุนไพร และบรรดาต้นไม้ทั่วไปเติบโตงอกงาม

ทั้งนี้ ด้วยอาศัยอานุภาพแห่งพญานาคราชผู้เป็นใหญ่

ซึ่งอาศัยอยู่ในสระอโนดาตอันชุ่มเย็น

 

พระสาวกทั้งหลายของพระพุทธองค์

ได้สอนกล่าวแสดงธรรมเพื่อช่วยเหลือผู้คนด้วยอุบายวิธีตามความเหมาะสม

ทำให้ได้เบิกบานและบรรลุถึงผลแห่งสุขอันสูงสุด

ทั้งหมดนี้เป็นไปด้วยอานุภาพขององค์พระตถาคต

 

พระพุทธองค์ทรงสืบทอดดวงตาแห่งธรรม

เหล่าผู้เป็นศิษย์สาวกของพระองค์ก็ศึกษาอย่างลึกซึ้งในสิ่งนั้น

ปฏิบัติจนได้ประจักษ์ชัด และนำออกสั่งสอนผู้คน

ทั้งหมดนี้เป็นไปด้วยอานุภาพของพระพุทธองค์

 

ความเข้าใจอันประเสริฐสมบูรณ์ ย่อมไม่อาจถูกยึดคว้าเอาได้

มันมิใช่เป้าหมายให้บรรลุถึง ทั้งไม่มีการตื่นรู้แห่งจิต

ผู้ใดได้รับฟังดังว่านี้แล้ว ไม่หลงงงงันและไม่หวาดหวั่นเกรงกลัว

ผู้นั้นแลคือพระโพธิสัตว์ ผู้สามารถเข้าใจพระพุทธองค์

 

ร่างกาย ความรู้สึก การรับรู้ จิตปรุงแต่ง และวิญญาณล้วนว่างเปล่า

พระโพธิสัตว์ไม่ติดกับสิ่งใดแม้เพียงสักนิดหนึ่ง

ท่านไม่มีที่อาศัยและไม่ตั้งตนอยู่ในธรรมใดทั้งสิ้น

จึงบรรลุซึ่งการตื่นรู้ที่ไม่อาจจับคว้า

 

พระโพธิสัตว์สละจากหลังคาเรือนแห่งกิเลส

ใช้ปัญญาสาดส่องเห็นขันธ์ ๕ ปราศจากสภาวะที่แท้จริง

เมื่อรู้เช่นนี้จึงไม่แสวงหาพระนิพพาน

ท่านดำรงอยู่ด้วยความเข้าใจแห่งพระโพธิสัตว์อย่างแท้จริง

 

การบรรลุถึงความเข้าใจนี้คืออย่างไร?

ก็คือพิจารณาเห็นทุกสิ่งล้วนเป็นความว่าง

ครั้นเมื่อเห็นได้เช่นนั้นแล้วก็จะไม่หวั่นกลัวอีกต่อไป

พระโพธิสัตว์ตื่นรู้แล้วและปลุกให้ผู้อื่นตื่นรู้ตาม

 

หากมองเห็นขันธ์ ๕

คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่ามีอยู่จริง

เท่ากับว่าไม่เข้าใจสภาพที่แท้ของมัน

พระโพธิสัตว์ส่องเห็นขันธ์ทั้งหมดล้วนว่างเปล่า

และปฏิบัติโดยไม่ติดกับรูปลักษณ์และถ้อยคำ

รูป เวทนา สังขาร และวิญญาณ ล้วนว่างเปล่า

เมื่อไม่มีการปฏิบัติ จึงเรียกการปฏิบัตินั้นว่า “ไร้รูปลักษณ์”

เมื่อยังมีการปฏิบัติ ย่อมไม่ใช่ความเข้าใจอันสูงสุด

ไม่มีสิ่งใดที่เรียกได้ว่า สมาธิไร้รูปลักษณ์ หรือ นิพพาน

 

หากผู้ใดปฏิบัติในการตื่นรู้อันนิ่งสงัดได้เช่นนี้

พระพุทธเจ้าแห่งอดีตทุกพระองค์ก็จะทรงรับรองเขาผู้นั้น

เมื่อเขารู้ชัดสภาพแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลายอย่างถ้วนทั่ว

ความทุกข์และสุขก็จะไม่อาจแตะต้องเขาได้อีก

 

การปฏิบัติที่ไม่เห็นว่ามีธรรมใดให้ปฏิบัติ

คือการปฏิบัติตามความเข้าใจแห่งพระสุคตเจ้า

การปฏิบัติตามหลักแห่งการที่ไม่มีสิ่งใดให้ปฏิบัติ

จึงเป็นการปฏิบัติแห่งความเข้าใจอันสูงสุด

 

การไม่มีสิ่งใดให้ปฏิบัตินั้นไม่อาจจับยึดได้

คนโง่เขลายึดติดกับลักษณะ กล่าวว่า “มี” และ ”ไม่มี”

“มี” และ “ไม่มี” ทั้งสองอย่างล้วนไม่ใช่สัจจะจริงแท้

พระโพธิสัตว์รู้ชัดเช่นนี้จึงข้ามพ้นไปทั้งสิ้น

 

พระโพธิสัตว์รู้ว่า ขันธ์ทั้ง ๕ นั้นเป็นดั่งภาพมายา

ทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

ท่านข้ามพ้นลักษณะทั้งหลาย ปฏิบัติอยู่ในความตื่นรู้อันสงบนิ่ง

นั่นคือการปฏิบัติความเข้าใจอันประเสริฐสูงสุด

 

ผู้ที่ได้รับคำสอนจากครูอาจารย์ที่ดี และคบเพื่อนดี (กัลยาณมิตร)

เมื่อได้ฟังพระสูตรอันเป็นมารดาแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว

ก็จะไม่หวาดหวั่น ส่วนผู้ที่มีครูสอนผิด คบเพื่อนชั่ว น้อมนำไปผิดทาง

เป็นเหมือนดั่งภาชนะดิบที่โดนน้ำแล้วมีอันต้องแตกไป

 

เหตุไฉนจึงเรียกท่านว่า “โพธิสัตว์”

ก็เพราะท่านได้บรรลุถึงความจริงสูงสุด

ทำลายความเห็นผิดทั้งหมดในโลก

เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า “มหาสัตว์”

 

ท่านเป็นผู้ให้อย่างยิ่งใหญ่ มีปัญญาอย่างยิ่งใหญ่ มีอานุภาพมาก

นั่งในลำพาหนะอันสูงสุดแห่งพระพุทธยาน

ตั้งพระโพธิจิต ปรารถนาจะช่วยเหลือสรรพสัตว์จำนวนมาก

เพราะเหตุนั้นจึงเรียกได้ว่า “พระมหาสัตว์”

 

ดังนักมายากลบนทางสี่แยก

เนรมิตผู้คนขึ้นมามากมายแล้วตัดศีรษะ (คนที่เนรมิตขึ้นนั้น) ไปมากมาย

ท่านทราบว่าโลกทุกภพภูมิล้วนเป็นมายา

ท่านจึงมิได้มีความหวาดกลัวเลย

 

รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นดั่งเชือกผูกมัด

เมื่อรู้ว่าทั้งหมดนี้ไม่จริงแท้ ท่านจึงไม่อิงอาศัยอยู่กับมัน

ท่านบำเพ็ญจิตแห่งพระโพธิสัตว์ ปราศจากความยึดติด

นั่นเรียกว่า พระโพธิสัตว์ผู้ประเสริฐสูงสุด

 

อย่างไรจึงจะได้ชื่อว่า โพธิสัตว์?

เพราะเหตุที่ขึ้นสู่ลำพาหนะแห่งมหายาน

เพื่อช่วยให้สรรพสัตว์เข้าสู่นิพพาน

มหายานเป็นยานพาหนะใหญ่ขนาดเท่าผืนฟ้าอวกาศ

ที่ช่วยให้เข้าถึงความสุขเกษม ปลอดภัย

 

พาหนะลำใหญ่แห่งมหายาน ไม่อาจจับคว้าได้ด้วยแนวคิดใดๆ

มันนำไปถึงพระนิพพานและถึงทุกสถานที่

จุดมุ่งหมายที่ไปถึงนั้นไม่อาจแลเห็นได้เหมือนดังไฟที่ดับแล้ว

เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า นิพพาน

 

การปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ ไม่มีใครจับได้

บริสุทธิ์หมดจดทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน

ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ ไร้ความหวาดกลัว และไม่ยืดเยื้อ

นั่นคือการปฏิบัติความเข้าใจอันประเสริฐสูงสุด

 

เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญตนในปัญญายิ่งใหญ่ ตั้

งจิตมหากรุณาเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์

กระนั้น ท่านมิได้เกิดจิตคิดขึ้นว่ามี “สรรพสัตว์”

นั่นคือการปฏิบัติ ความเข้าใจอันประเสริฐสูงสุด

 

หากพระโพธิสัตว์เกิดมีจิตคิดเห็นว่ามีสัตว์

และปฏิบัติในวิถีต่าง ๆ ติดกับลักษณะแห่งทุกข์

พระโพธิสัตว์องค์นั้นยังติดกับความมีตัวตนและตัวสัตว์

นั่นมิใช่การปฏิบัติความเข้าใจอันประเสริฐสูงสุดเลย

ท่านรู้ชัดถึงสัตว์ทั้งปวง ดังที่รู้จักตนเอง

ท่านรู้ทั่วถึงธรรมทั้งปวง ดังที่รู้จักปวงสัตว์

ว่าการเกิดและดับมิได้ตรงกันข้าม

และมิได้แตกต่างจากการไม่เกิดและไม่ดับ

 

นั่นคือการปฏิบัติความเข้าใจอันประเสริฐสูงสุด

ท่านได้ละวางจากคำกล่าวและชื่อเรียก

และละวางจากสิ่งที่เกิดดับในโลกนี้ทั้งหมด

บรรลุถึงญาณรู้อันสูงส่ง ดั่งน้ำอมฤตซึ่งไม่มีสิ่งใดอื่นจะมาเทียบเท่า

 

นั่นคือการปฏิบัติความเข้าใจอันประเสริฐสูงสุด

การปฏิบัติของพระโพธิสัตว์เป็นเช่นนี้

รู้จักอุบายวิธีอันชาญฉลาดและเหมาะสมแล้วนำไปใช้

ปราศจากความมุ่งหวังใด ๆ

 

ท่านรู้ดีว่าสิ่งทั้งหลายมิได้มีอยู่อย่างแท้จริงโดยธรรมชาติ

นั่นคือการปฏิบัติความเข้าใจอันสมบูรณ์

ท่านไม่ดำรงตนอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร หรือวิญญาณเลย

แต่ดำรงอยู่แต่ในพระธรรมอันประเสริฐเท่านั้น

นั่นคือการปฏิบัติความเข้าใจอันสูงสุด

 

ความเที่ยงและไม่เที่ยง สุขและทุกข์

ตัวตนและไร้ตัวตน มันก็เป็นเช่นนั้นเองและเป็นความว่าง

ท่านไม่ดำรงอยู่ในโลกแห่งเงื่อนไขปัจจัยปรุงแต่ง

หรือในสิ่งที่ไร้เงื่อนไข ไม่ถูกปรุงแต่ง

เฉกเช่นเดียวกับพระพุทธองค์

 

ท่านดํารงอยู่แต่ในการปฏิบัติแห่งความไร้รูปลักษณ์เท่านั้น

หากเธอปรารถนาผลแห่งการบรรลุของพระสาวก

หรือว่าประสงค์จะเป็นปัจเจกพุทธะ หรือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

หากเธอไม่มีความอดทน ก็จะไม่สามารถจะบรรลุถึงได้

เหมือนดังผู้ที่ข้ามแม้น้ำใหญ่ แต่ไม่เห็นฝั่ง

 

หากผู้ใดฟังธรรมนี้แล้วและตั้งใจแน่วแน่

ที่จะบรรลุถึงการตื่นรู้สูงสุด สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เห็นธรรมชาติของสรรพสิ่งว่าเป็นธรรมชาติของตนเอง

นั่นคือพระปั ญญายิ่งใหญ่ที่ตรัสไว้โดยองค์พระตถาคต

ความเข้าใจยิ่งใหญ่แห่งจริยาพระโพธิสัตว์เป็นเช่นนี้

 

ไม่ฝึกฝนตามวิถีพระปัจเจกพุทธะหรือพระสาวก

ศึกษาฝึกฝนแต่ในญาณรู้ที่ไม่มีขีดจำกัดแห่งองค์พระตถาคต

ศึกษาการไม่ศึกษา นั่นแลเป็นการศึกษาที่แท้

ท่านฝึกฝนในการไม่เพิ่มและไม่ลดของรูป

 

ไม่ฝึกฝนในวิถีอื่นใด แต่ยินดีศึกษาในญาณรู้อันไม่มีขีดจำกัดเท่านั้น

เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณก็เช่นเดียวกัน

ในรูป มิได้มีปัญญาและมิได้ปราศจากปัญญา

เวทนา สังขาร และวิญญาณ ก็เป็นดุจเดียวกันนี้

สภาวะที่แท้แห่งรูปเป็นดั่งอวกาศอันเวิ้งว้าง

เสมอภาค ไม่เป็นสอง และไม่มีการแบ่งแยก

โดยสภาพพื้นฐานแล้ว ความคิดเห็นที่ผิดนั้นไม่มีขอบเขต

สภาพพื้นฐานของปวงสัตว์ก็ไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน

สภาพพื้นฐานของอวกาศก็ไม่มีที่สุดสิ้น

พระปัญญาขององค์พระผู้รู้แจ้งโลก ก็ไม่มีที่สิ้นสุดดุจเดียวกัน

 

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ปัญญามิใช่รูปลักษณ์

เมื่อปลดปล่อยจากการยึดติดในการรับรู้มั่นหมายทั้งหลาย

ก็ถึงพระนิพพาน

หากใครละได้ซึ่งการยึดติดในการรับรู้

ก็กล่าวได้ว่า วาจาและใจของเขาดำรงอยู่ในความเป็นเช่นนั้นเอง

 

เขาผู้นั้นอยู่ในโลก เป็นเวลาหลายช่วงกัปป์ที่มีมากพอๆ

กับเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา

ไม่เคยได้ยินพระพุทธเจ้าตรัสคำว่า “สรรพสัตว์”

หมู่สัตว์ปราศจากการเกิด จึงมีความบริสุทธิ์หมดจดมาแต่ต้น

นั่นคือการปฏิบัติความเข้าใจอันประเสริฐสูงสุด

 

ทุกถ้อยคำที่เราได้กล่าวมา

ล้วนบรรจุความหมายแห่งความเข้าใจอันประเสริฐสูงสุด

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในกาลก่อนก็ได้พยากรณ์เราไว้ว่า

“ท่านจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล”

 

หากใครปฏิบัติตนในความเข้าใจอันสูงสุดนี้

ย่อมเท่ากับได้ดำเนินในสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญมา

มีด ดาบ ยาพิษ ไฟ และน้ำ

จนถึงหมู่มารไม่อาจแตะต้องเขาผู้นั้น

 

ปรัชญาปารมิตารัตนคุณสังจยคาถา ไตโช พระไตรปิฎกฉบับปรับปรุง 229

โพสต์ที่คล้ายกัน

พระสูตรว่าด้วยอาหาร ๔ ประเภท

ต่อไปนี้ คือสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับฟังมา       ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ณ วัดเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี...

พระสูตรการตื่นรู้ ๘ ประการแห่งมหาบุรุษ

ในฐานะศิษย์ของพระพุทธองค์ เราควรท่องสวดและพิจารณาอย่างสุดหัวใจ ทั้งวันและคืน ต่อสิ่งที่เหล่ามหาบุรุษทั้งหลายได้ตรัสรู้ทั้ง ๘ ประการ      ...

bottom of page