top of page

พระสูตรการตื่นรู้ ๘ ประการแห่งมหาบุรุษ

      ในฐานะศิษย์ของพระพุทธองค์ เราควรท่องสวดและพิจารณาอย่างสุดหัวใจ ทั้งวันและคืน ต่อสิ่งที่เหล่ามหาบุรุษทั้งหลายได้ตรัสรู้ทั้ง ๘ ประการ

      ประการแรก ได้แก่ การตื่นรู้ว่าชีวิตนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ระบอบการปกครองใด ๆ ก็ล่มสลายลงได้โดยง่าย โครงสร้างที่ธาตุทั้ง ๔ ได้ประกอบกันขึ้นล้วนแต่ว่างเปล่า และสามารถก่อให้เกิดความทุกข์ มนุษย์ก็เกิดมีได้จากการประกอบกันของขันธ์ทั้ง ๕ จึงมิได้มีตัวตนที่แท้จริง ล้วนเกิดดับ แปรเปลี่ยนไปไม่มีหยุด ว่างเปล่าและไม่มีอำนาจควบคุมได้ ในขณะเดียวกันนั้น จิตของเราก็เป็นแหล่งต้นธารให้เกิดความชั่วร้าย และกายของเราก็เป็นที่เก็บรวบรวมแห่งความผิดทั้งหลาย พิจารณาเช่นนี้ก็จะค่อยๆ ข้ามพ้นจากการเกิดและการตาย

      ประการที่ ๒ ได้แก่ การตื่นรู้ว่ายิ่งมีความทะยานอยากมาก ก็ยิ่งมีความทุกข์มาก ความยากลำบากในโลกแห่งการเกิดตายนี้ ต่างล้วนเกิดมาจากความอยากทั้งสิ้น ในขณะที่ผู้มีความอยากน้อยก็จะไม่ถูกสภาพแวดล้อมกระทบกระเทือน แต่กลับรู้สึกว่ากายและใจของตนเบาสบายเป็นอิสระ

      ประการที่ ๓ ได้แก่ การตื่นรู้ว่าใจเราวิ่งวุ่นไล่ตามชื่อเสียงและผลประโยชน์โดยไม่รู้จักเบื่อหน่าย ดังนั้นโทษและความผิดทั้งหลายก็ยิ่งใหญ่มากขึ้นทุกวันตามมา บรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงพวกท่านคำนึงถึงความรู้จักพอเพียงอยู่เสมอ มีความสงบสุขอยู่กับชีวิตอันเรียบง่ายเพื่อปฏิบัติธรรมและมองภาระงานหนึ่งเดียวของตนว่า คือการบรรลุถึง

ปัญญารู้แจ้งเท่านั้น

      ประการที่ ๔ ได้แก่ การตื่นรู้ว่าความเกียจคร้านจักนำพาไปสู่ความตกต่ำ ดังนั้น มนุษย์เราจึงควรพากเพียรปฏิบัติธรรม ทลายข้าศึกคือกิเลส กำราบมารทั้ง ๔จำพวก* และออกมาเสียจากคุกที่คุมขังแห่งขันธ์ ๕ และโลกทั้ง ๓

      ประการที่ ๕ ได้แก่ การตื่นรู้ว่าเราถูกจองจำในโลกแห่งการเกิดและตายนี้ก็ด้วยความไม่รู้ (อวิชชา) ดังนั้นเหล่าพระโพธิสัตว์จึงจดจำอยู่เสมอว่าจะต้องเรียนรู้อย่างกว้างขวาง เพิ่มพูนปัญญาหยั่งรู้ และบรรลุถึงความสามารถแห่งการโน้มน้าวใจ เพื่อใช้สอนทุกผู้คนให้ได้บรรลุถึงปีติสุขอันยิ่งใหญ่

      ประการที่ ๖ ได้แก่ การตื่นรู้ว่าด้วยเพราะความยากจนเป็นเหตุ ทำให้ คนเราเกิดมามีความเกลียดชังและอาฆาตแค้น แล้วจึงยิ่งสร้างเหตุแห่งกรรมอันเป็นอกุศลเพิ่มขึ้นต่อไปอีก พระโพธิสัตว์รู้เช่นนี้จึงหมั่นฝึกปฏิบัติการเสียสละและให้ทาน มองผู้ที่รักและเกลียดชังตนอย่างเท่าเทียม ไม่ถือสาสิ่งที่ผู้อื่นได้ทำร้ายตน และไม่มีจิตคิดเกลียดชังใครที่ได้กระทำสิ่งชั่วร้าย

      ประการที่ ๗ ได้แก่ การตื่นรู้ว่าความทะยานอยากทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕**ประการก่อให้เกิดโทษและภยันตรายมากมายล้นเหลือ นักบวชแม้จะใช้ชีวิตอยู่ในโลก แต่ก็ไม่แปดเปื้อนไปกับความเพลิดเพลินทางโลก พวกท่านพิจารณาอยู่เสมอว่า ทรัพย์สมบัติของตน ได้แก่ผ้าจีวรสามผืนและบาตรหนึ่งใบ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุปกรณ์แห่งธรรม ปณิธานแห่งการบวชของตนคือการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเพื่อสามารถปฏิบัติธรรม รักษาพรหมจรรย์ไว้ให้บริสุทธิ์และประเสริฐสูงส่ง นำเอาจิตเมตตากรุณามาใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับทุกคน

      ประการที่ ๘ ได้แก่ การตื่นรู้ว่าเปลวไฟแห่งการเกิดและตายกำลังลุกไหม้สรรพชีวิตจึงต้องทนต่อความทุกข์ยากมากเหลือประมาณ รู้เช่นนี้แล้ว เราจึงต้องตั้งจิตแห่งมหายาน ตั้งปณิธานจะช่วยเหลือทุกสรรพชีวิต อธิษฐานจะยอมทนความทุกข์อันไม่อาจคณานับได้ เพื่อประโยชน์ต่อสรรพชีวิตทั้งปวงเพื่อให้สรรพชีวิตทั้งปวงได้บรรลุถึงความสุขอันสูงสุดนั้นเทอญ

      ทั้ง ๘ ประการดังที่กล่าวมานี้ คือสิ่งที่เหล่ามหาบุรุษได้แก่ พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายได้ตื่นรู้ ท่านเหล่านี้ได้พากเพียรภาวนา ปฏิบัติความเมตตากรุณาและปัญญารู้แจ้ง ได้แล่นเรือแห่งพระธรรมกายไปสู่ฟากฝั่งแห่งพระนิพพาน เมื่อกลับมาสู่โลกแห่งการเกิดและตายเพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตพวกท่านก็ได้ใช้การตื่นรู้ ๘ประการดังกล่าวเพื่อเปิดทางและชี้นำต่อผู้คน ยัง

ให้สรรพชีวิตทั้งมวลได้ตรัสรู้ถึงความทุกข์ของการเกิดและตาย สละทิ้งเสียซึ่ง ความทะยานอยากทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ และมุ่งจิตสู่หนทางแห่งอริยะ

      หากศิษย์สาวกของพระพุทธเจ้าได้ท่องสวดการตื่นรู้ ๘ ประการนี้ ทุกครั้งที่ได้พิจารณารำลึก ก็จะสามารถดับสิ้นความผิดอันมากเหลือประมาณก้าวหน้าไปบนการตื่นรู้ ได้เข้าถึงการตรัสรู้อันสมบูรณ์โดยไว ขจัดสิ้นการเกิดตายอย่างสมบูรณ์และดำรงอยู่ในศานติสุขนิจนิรันดร

 

จาก พระสูตรการตื่นรู้แปดประการแห่งมหาบุรุษ,

ไตโช พระไตรปิฎกจีน พระสูตรที่ 779


(*) มารทั้ง ๔ จำพวก มาร แปลว่า ผู้ฆ่าหรือผู้คอยขัดขวางและสร้างอุปสรรคแก่กุศลกรรม ได้แก่ เทวปุตตมาร (มารที่เป็นเทวดาพวกหนึ่ง) ขันธมาร (มารคือขันธ์ ๕) มัจจุมาร (มารคือความตาย) กิเลสมาร (มารคือกิเลสรบกวนใจ เช่น โลภ โกรธหลง)

 

(**) ความทะยานอยากทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ หรือ กามคุณ ๕ โดยนัยหนึ่ง หมายถึงความเพลิดเพลินทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย แต่ในอีกกรณีหนึ่ง กามคุณ ๕ประกอบด้วย ทรัพย์สิน ชื่อเสียง กามารมณ์และความหลงใหลในรูปลักษณ์ การกินเกินไป การนอนเกินไป

โพสต์ที่คล้ายกัน

พระสูตรขุมคลังแห่งคุณธรรมอันล้ำค่าการฝึกฝนความเข้าใจอันสมบูรณ์

ปรัชญาปารมิตารัตนคุณสํจยคาถา   พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาจะขจัดอุปสรรคและกิเลสทั้งหลายในชีวิตนี้ ตั้งจิตบริสุทธิ์ด้วยศรัทธาต่อพระนิพพาน...

พระสูตรว่าด้วยอาหาร ๔ ประเภท

ต่อไปนี้ คือสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับฟังมา       ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ณ วัดเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี...

bottom of page